เปลี่ยนสายน้ำดีอ่างล้างหน้า น้ำไหลไม่แรงเพราะสายบิด หักงอ

ปัญหาเรื่องน้ำในบ้านบางจุดไหลเบา บางทีเราก็กล่าวโทษ ตั้งข้อหาน้ำประปาไม่แรงเอาไว้ก่อน หรือไม่ก็โทษว่าปั๊มน้ำไม่ดี ไม่น่าซื้อขนาดเล็กเกินไป จนทำให้แรงดันน้ำไม่พอ อย่างที่ต้องการ เดี๋ยวจะต้องไปซื้อปั๊มน้ำตัวใหม่ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม แรงดันมากขึ้นไปอีก แต่รู้ไหมว่าเรามักจะลืมอะไรไปบางอย่าง นั่นก็คือพยายามสำรวจตรวจตราหาสาเหตุที่แท้จริงกันก่อน อย่างในกรณีง่ายๆ ที่ขอยกตัวอย่างในวันนี้พบว่า น้ำก๊อกอ่างล้างหน้าของเรา มีน้ำไหลออกจากก๊อกน้ำค่อนข้างจะเบา และเมื่อสำรวจดูให้ทั่ว เริ่มตั้งแต่ตัวก๊อกน้ำ ไล่ย้อนลงไปจนถึงท่อน้ำแล้วพบว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวก๊อกน้ำเลย แต่กลับเป็นสายน้ำดีอ่างล้างหน้า ที่ต่อระหว่างท่อน้ำกับตัวก๊อกน้ำต่างหาก ที่เกิดการพับงอจนน้ำไหลแทบจะไม่ได้

สายน้ำดีบิดขนาดนี้ น้ำถึงไหลได้ไม่ดี
สายน้ำดีบิดขนาดนี้ น้ำถึงไหลได้ไม่ดี

เมื่อเราสำรวจและพิจารณาหาสาเหตุที่แท้จริง ต้นเหตุที่ทำให้สายน้ำดีพับงอจนเกือบจะปิดทางน้ำไหลของน้ำขนาดนี้ ก็ได้คำตอบง่ายๆว่า สายน้ำดีเส้นนี้มันสั้นมาก สั้นมากเกินไปเมื่อเทียบกับระยะห่าง จากท่อน้ำมายังตัวก๊อกน้ำอ่างล้างหน้า ที่ช่างคนก่อนเลือกสายน้ำดีสั้นๆ แบบนี้มาใช้งาน อาจจะเป็นเพราะกลัวว่าสายจะยาวเกะกะ เลยเลือกซื้อแบบสั้นๆ (หรือไม่ก็ซื้อมาผิดขนาด หรือเพราะยิ่งสั้นยิ่งราคาถูกก็ไม่รู้) แต่กลายเป็นว่า สายน้ำดีที่ใช้งานสั้นเกินไป จนสายน้ำดีเส้นนี้เกิดการดึงรั้ง จนเกิดการบิดงอจนเกือบจะพับแบบนี้ เพราะความตรึงอันเกิดจากแรงดึงระหว่างปลายสต็อปวาล์ว กับตัวก๊อกน้ำอ่างล้างหน้าทำให้เป็นแบบนี้ และเมื่อรู้สาเหตุแล้วก็ไม่ต้องรีๆรอๆ ลงมือจัดการแก้ไขกันเลยดีกว่า

การพิจารณาเลือกซื้อสายน้ำดีมาเปลี่ยนใหม่ นอกจากจะต้องพิจารณาถึงลักษณะภายนอกของสายน้ำดีแล้ว ชนิดของท่อ และคุณสมบัติแล้ว เรายังต้องพิจารณาถึง ความยาวของสายน้ำดีที่เหมาะสมด้วย เพราะระยะห่างระหว่าง ตัวท่อน้ำที่ช่างประปาเตรียมเอาไว้ให้ (ฝังอยู่ในกำแพงเป็นข้อต่อเกลียวในไว้ให้ หรือโผล่ออกมาจากกำแพงเล็กน้อย ก็แล้วแต่ช่างจะกรุณาทำให้) ยาวไปถึงจุดที่จะติดตั้งก๊อกน้ำอ่างล้างหน้า บางทีเราก็พบว่ามีระยะทางที่ห่างกันมาก ถ้าใช้สายน้ำดีสั้นๆก็คงยาวไม่ถึง และบางครั้ง บางจุดก็อยู่ใกล้กัน จนเกือบจะชนกันอยู่แล้ว ถ้าเลือกใช้สายน้ำดียาวๆ มาต่อก็จะดูเกะกะได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า ช่างประปาได้เตรียมปลายท่อน้ำดีไว้ให้เราอย่างไร เดินท่อโผล่มาได้ตรงตามจุดที่เราวางแผนจะติดตั้งอ่างล้างหน้ามากน้อยแค่ไหน ทำตามแบบหรือไม่ หรือเผื่อให้เราปรับเปลี่ยนแบบมากน้อยแค่ไหน (บางครั้งปัญหาก็ไม่ได้อยู่ที่ช่างประปา แต่เป็นเพราะเจ้าของบ้านต้องการเปลี่ยนแบบเองก็อย่าโทษช่างนะ) และในวันนี้เราจะต้องมาแก้งานเก่าที่ช่างคนเดิมทำทิ้งเอาไว้ เดินท่อน้ำยื่นออกมานอกกำแพงยาวมากจนดูเกะกะ และไม่จำเป็นแบบนี้

ขั้นตอนการเปลี่ยนสายน้ำดีอ่างล้างหน้า

ขั้นตอนในการเปลี่ยนสายน้ำดีไม่ยุ่งยากอะไรเลย ง่ายมาก มาดูขั้นตอนกันก่อนดีกว่า

สภาพน้ำที่ไหล ก่อนเปลี่ยนสายน้ำดี
สภาพน้ำที่ไหล ก่อนเปลี่ยนสายน้ำดี

สภาพน้ำที่ไหลก่อนที่จะเริ่มงานเปลี่ยนสายน้ำดีของเราในวันนี้ จะเห็นว่าน้ำไหลเบามาก

สายน้ำดีบิดขนาดนี้ น้ำถึงไหลได้ไม่ดี
สายน้ำดีบิดขนาดนี้ น้ำถึงไหลได้ไม่ดี

ก่อนที่จะเริ่มลงมือถอดสายน้ำดีออกมา ต้องไม่ลืมที่จะปิดน้ำก่อน สำหรับบ้านนนี้ช่างประปาได้ต่อสต๊อปวาล์วคั่นระหว่างท่อน้ำประปากับตัวสายน้ำดีไว้ด้วย ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องววิ่งไปปิดประตูน้ำประปาหน้าบ้านอย่างเคย เราก็จัดปิดสต๊อปวาล์ว(stop valve) ใต้อ่างล้างหน้ากันก่อนเลย (ที่มองเห็นหัวแดงๆ นั่นแหละ)

ใช้ประแจเลื่อนขันออกเสียก่อน
ใช้ประแจเลื่อนขันออกเสียก่อน

จากนั้นก็ใช้ประแจเลื่อนขันเอาสายน้ำดีเส้นเก่าออกเสียก่อน แต่เราต้องจับที่ตัวสต๊อปวาล์วไว้ด้วยไม่ให้หมุนตามกันไปพร้อมกับสายน้ำดี และทิศทางการขันเพื่อคลายเกลียวออกคือ ทวนเข็มนาฬิกา อย่าหมุนผิดทางจนเกิดความเสียหาย เป็นปัญหาใหม่ให้ต้องแก้เพิ่มนะ

ปลายที่ต่อกับก๊อกน้ำ เอาออกยากหน่อย
ปลายที่ต่อกับก๊อกน้ำ เอาออกยากหน่อย

หลังจากนั้นเราก็มาปลดสายน้ำดีที่ตัวก๊อกน้ำอ่างล้างหน้าในลำดับถัดมา ถ้าเราสามารถหมุนเกลียว ให้ข้อต่อของสายน้ำดีคลายออกมาได้บ้างนิดหน่อย เราก็จะคลายเกลียวออกได้ง่ายๆด้วยมือ ยกเว้นว่าจะมีสนิมเหล็กเกิดขึ้นที่บริเวณเกลียว ซึ่งจะทำให้งานของเราลำบากขึ้น ปัญหาก็มาจากสายน้ำดีราคาถูกๆ ที่ใช้วัสดุเป็นเหล็กมาชุบโครเมี่ยม หรือก๊อกน้ำที่ใช้อลูมีเนียมเป็นวัสดุหลัก และชุบโครเมี่ยมบางๆ เมื่อก๊อกน้ำเริ่มผุ เกลียวของก๊อกน้ำก็จะไม่อยู่ในรูปเกลียวอีกต่อไป ทำให้ถอดออกลำบากพอสมควร

ความยาวที่เปลี่ยนไป ของสายน้ำดี
ความยาวที่เปลี่ยนไป ของสายน้ำดี

สายน้ำดีเส้นใหม่ เปรียบเทียบกับเส้นเก่า เปรียบเทียบให้เห็นก่อนการเปลี่ยนว่า มีความยาวต่างกันพอสมควร

บอกนิดก็ดี อ่านหน่อยก็เยี่ยม
บอกนิดก็ดี อ่านหน่อยก็เยี่ยม

คุณสมบัติของสายน้ำดี มีเขียนเอาไว้ข้างหลังบรรจุภัณฑ์เสมอ แต่เป็นรายละเอียดที่เรามักจะละเลย ไม่อ่านและไม่ดูกันเลย

หัวต่อของสายยาง เรียบร้อยดี
หัวต่อของสายยาง เรียบร้อยดี

สายน้ำดี แบบที่เลือกใช้ครั้งนี้ เป็นสายน้ำดีแบบใยแก้ว หรือเชือกถัก ไม่จำเป็นต้องถึงขึ้นสแตนเลส เพราะแรงดันที่ใช้งานภายในบ้านโดยทั่วไป ไม่สูงเกิน 5 บาร์อยู่แล้ว และสายน้ำดีแบบนี้ทนแรงดันสูงสุดที่ 30 บาร์ (ตามที่บรรจุภัณฑ์ ระบุไว้)

สายน้ำดีที่เป็นสแตนเลส ไม่ได้หมายความว่า ท่อเป็นสแตนเลสทั้งหมด ภายในสแตนเลสถักที่เรามองเห็นนั้น ก็จะเป็นท่อยางเหมือนกัน เป็นท่อยางสีดำๆ ที่มีคุณภาพตามราคา ตามยี่ห้องผลิตภัณฑ์ แต่จะรับแรงดันได้สูงกว่าแบบเชือกถักมากทีเดียว เพราะเมื่อแรงดันสูง สายยางภายในก็จะขยายตัวใหญ่ขึ่นตามแรงดันภายใน แต่จะขยายตัวไม่ได้มากเพราะไปติดที่สแตนเลสถัก ทำให้สายยางไม่สามารถพองตัว หรือขยายตัวมากไปกว่านี้แล้ว สายยางภายในจึงไม่ระเบิด ไม่แตก ไม่มีรูรั่ว ส่วนความคงทน ก็เป็นไปตามระยะเวลา อายุการใช้งานเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าท่อที่เป็นสแตนเลสถัก จะใช้ได้ยาวนานชั่วลูกชั่วหลาน เพราะมันขึ้นอยู่กับอายุการใช้งานวัสดำที่เป็นยางภายในเหมือนกัน ที่ผมเคยซื้อมาใช้ บางยี่ห้อ ใช้งานเพียงแค่ไม่กี่เดือน ทั้งที่แรงดันน้ำยังไม่ถึงแรงดันที่สายน้ำดีแบบนี้ทนได้ ตามที่ระบุไว้ที่ตัวผลิตภัณฑ์ด้วยซ้ำ เสียหายจนต้องเปลี่ยนก็ยังเคยเจอมาแล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็รู้สึกตัวว่า แม้สายน้ำดีที่เป็นสแตนเลสถักจะสวยงามกว่า แต่อายุการใช้งานพอๆ กัน เลยไม่รู้จะจ่ายแพงกว่าทำไมครับ

แหวนยาง ห้ามลืมเด็ดขาด
แหวนยาง ห้ามลืมเด็ดขาด

มีแหวนยาง หรือซีลยาง อย่าลืม ตอนประกอบต้องใส่แหวนยาง หรือซีลยางลงไปด้วย ไม่งั้นจะเกิดการรั่วซึม ที่เกลียวของสายน้ำดีตามมาแน่นอน

ถ้าจะพันเกลียว เพื่อให้แน่น อย่าพันเลยมาถึงปลาย
ถ้าจะพันเกลียว เพื่อให้แน่น อย่าพันเลยมาถึงปลาย

การยึดสายน้ำดีเข้ากับสต๊อปวาล์ว หรือก๊อกน้ำก็ตาม ไม่จำเป็นต้องใช้เทปพันเกลียว พันที่เกลียวของสต๊อปวาล์ว หรือก๊อกน้ำ เพราะซีลยางทำหน้าที่ป้องกันการรั่วซึมของน้ำอยู่แล้ว การใช้เทปพันเกลียว อาจจะให้ผลตรงกันข้ามกับที่เราคาดหวัง เช่น ทำให้เราขันสายน้ำดีกับก๊อกน้ำ หรือสต๊อปวาล์วได้ไม่แน่นพอ น้ำก็จะรั่วซึมออกมาได้ เป็นต้น

แต่ถ้าจะพันเทปพันเกลียวเพื่อให้ขันเกลียวของสายน้ำดีได้แน่นขึ้น ก็ห้ามพันมาจนถึงปลายของเกลียว และอย่าพันให้หนามาก เพราะเคยมีกรณีการรั่วซึมเพราะสาเหตุนี้ให้เห็นมาแล้ว เนึ่องจากการพันเทปเลยออกมาจนปิดปากท่อของตัวก๊อกน้ำ หรือสต๊อปวาล์ว เมื่อต่อสายน้ำดีเข้าไปแรงดันน้ำที่มากก็ผลักดันน้ำ ให้วิ่งเข้าไปยังช่องว่างระหว่างเทปพันเกลียวที่พันเกินออกไป ทำให้น้ำไหลย้อนกลับออกมาทางเกลียวนั่นแหละ หยดติ๋งๆ เชียว ดังนั้นขอย้ำอีกครั้ง ปกติการพิจารณาว่าจะพันเกลียวท่อหรือไม่ ต้องดูที่อุปกรณ์ที่นำมาต่อเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย ถ้าอุปกรณ์ที่นำมาต่อนั้น มีแหวนยางหรือซีลยางรองรับอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เทปพันเกลียว มาพันที่เกลียวอีก เนื่องจากแหวนยางหรือซีลยาง จะประกบเข้ากับปากท่ออย่างแนบแน่น เมื่อเราขันกวดน๊อตเข้าไปจนตรึงมือ

ใช้ประแจเลื่อนขันกลับเข้าไปพอตรึงมือ
ใช้ประแจเลื่อนขันกลับเข้าไปพอตรึงมือ

เราใช้ประแจเลื่อนขันเกลียวของสายน้ำดีให้แน่นจนตรึงมือก็พอ แต่ต้อง ระวัง ด้วยว่าตัวสต๊อปวาล์ว อาจจะหมุนตามการขันเกลียวสายน้ำดี จนเกิดการปริแตกที่ข้อต่อ PVC ที่ฝังอยู่ในกำแพงได้ ทางที่ดีให้เราใช้คีม หรือประแจเลื่อนอีกตัวหนึ่ง จับที่ตัวสต๊อปวาล์วเอาไว้ และออกแรงจับยึด ในทิศทางที่สวนทางกับการขันยึดเกลียวสายน้ำดี เพื่อไม่ให้ตัวสต๊อปวาล์วหมุตตามสายน้ำดีไปด้วย และทิศทางการขันล็อคสายน้ำดีคือ หมุนตามเข็มนาฬิกา

สายไม่ตรึงจนเกินไป สายก็จะไม่หัก
สายไม่ตรึงจนเกินไป สายก็จะไม่หัก

เมื่อต่อสายน้ำดีเส้นใหม่เสร็จแล้ว จะเห็นได้ว่า สายน้ำดีจะไม่ตรึงจนเกินไปแล้ว เพราะถ้าตรึงจนเกินไป เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง สายน้ำดีก็จะเกิดการบิดงอจนเกือบจะหัก และปัญหาน้ำไหลช้าแบบเดิมๆ ก็จะกลับมาให้เราแก้ไขอีก

น้ำไหลแรงขึ้นแล้ว
น้ำไหลแรงขึ้นแล้ว

เมื่อต่อสายน้ำดีเรียบร้อยแล้ว ให้ตรวจสอบโดยใช้มือหมุนที่จุดต่างๆอีกครั้งว่าเราไม่ลืมขันเกลียวให้แน่นแน่ๆ ค่อยเปิดสต๊อปวาล์ว และ เปิดน้ำที่ก๊อกน้ำอ่างล้างหน้าของเรา เพื่อทดสอบดูอีกที คราวนี้เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น เพราะความแรงของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนแบบนี้ยืนยันได้ว่า เราแก้ปัญหาได้ลุล่วงตามเป้าหมายแล้วล่ะครับ

Leave a Comment

eight − 4 =

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.