About Us

เว็บไซต์บ้านนายช่าง เกิดจากความตั้งใจที่จะแบ่งปันความรู้ วิธีจัดการกับงานซ่อมแซม อุปกรณ์ เครื่องใช้ เล็กๆ น้อยๆ ที่ทำกันเองได้ภายในบ้าน เพื่อประหยัดเงิน และเวลา(ที่ต้องไปถกเถียงกับช่าง) ในการแก้ไข และซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้เหล่านั้น ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งานต่อไป และจากที่ผ่านมา จากประสบการณ์แล้วพบปัญหาว่าเวลาจ้างช่าง ช่างมักจะทำให้เราไม่ถูกใจตามที่เราต้องการเสียอีก ทั้งๆ ที่ก่อนดำเนินการได้บอกได้แจ้งไปแล้วว่าต้องการอะไรอย่างไร แต่ผลที่ได้รับก็ไม่ตรงกับความต้องการเลย ก็เลยอยากเอาเรื่องราวการซ่อมแซม แก้ไขสิ่งต่างๆ ภายในบ้านของตัวเองมาเป็น case study ให้กับอีกหลายๆ คนที่อยากจะทำเองแต่ไม่รู้จะทำยังไง เริ่มแบบไหน ก็จะได้เริ่มศึกษาเป็นแนวทาง หากอยากจะทำเองและทำตามบ้าง ก็จะได้ทำตามได้ง่ายๆ ไม่ต้องหลับตาคลำทาง และอย่างน้อย แม้ว่าไม่ทำเองก็ควรศึกษาไว้บ้างคร่าวๆ ก็ยังดี เพราะว่าอย่างน้อย ก็จะได้ไม่ต้องโดนช่างชุ่ยๆ หลอกเอาตังค์แล้ว ทิ้งความเสียหายไว้ให้เรา

การเลือกซื้ออุปกรณ์ใหม่มาเปลี่ยน แทนที่อุปกรณ์เก่าๆ ที่เสียหายภายในบ้าน บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าควรซื้ออะไร แบบไหน ทำได้เพียงแค่ถามพนักงานขาย ซึ่งก็มักจะคอยเชียร์ยี่ห้อที่ตนเองได้ค่าคอมมากๆ และพยายามข้ามรายละเอียดที่ควรแนะนำไปเสียหมด เพราะไม่รู้จะบอกไม่ทำไม ขืนบอกไปกลายเป็นข้อเสีย ลูกค้าจะไม่เลือกซื้อ ก็จะกลายเป็นการเสียโอกาสไป พนักงานขายเลยไม่บอกอะไรมาก เชียร์ว่าดีอย่างเดียวก็พอ ที่น่าชำก็คือ บางครั้งก็เชียร์สินค้าด้วยข้อเสีย ที่ยกมาพูดเสียเป็นข้อดีจนได้ บางครั้งข้อดีในสินค้านั้นก็เป็นข้อเสียของใครบางคนด้วยเหมือนกัน เช่น ครั้งหนึ่งไปเลือกซื้อตู้เย็นใบใหม่ พนักงานขายก็เชียร์น่าดูกับประตูตู้ที่เป็นสแตนเลส ไม่เป็นสนิมแน่ๆ (แต่ตัวตู้ด้านอื่นๆน่ะ ไม่ยักกะเป็นสแตนเลสด้วย) เชียร์มากจนรู้สึกรำคาญ เลยตอบไปว่า “นั่นน่ะข้อเสียของผมครับ เพราะผมชอบเอาแม่เหล็กมาติดเมนูอาหารไว้ที่หน้าตู้ หรือโน๊ตข้อความแล้วเอาแม่เหล็กติดไว้หน้าตู้ ให้คนในบ้านได้อ่าน ได้เห็น เวลามาเปิดตู้เย็นดื่มน้ำ” ถึงจะได้ยอมเงียบและเลิกเชียร์ข้อดีบนข้อเสียสำหรับผมข้อนั้น

การเลือกซื้ออุปกรณ์มาเปลี่ยนนั้น ครั้นถ้าจะถามช่าง ให้ช่างจัดการหาซื้อมาให้ ก็มักจะได้ของที่ถูกไว้ก่อน หักตังค์ส่วนต่างเข้ากระเป๋ากันอีก นับเป็นเรื่องปวดหัวไม่รู้จบ สำหรับคนรักบ้าน ถ้าได้ช่างดีก็ดีไป แต่โดยมาก ช่างดีๆ คิวจะไม่ว่าง ในขณะที่บ้านเราต้องซ่อมแบบฉุกเฉิน เช่นท่อประปาแตก ถ้ารอช่างมือดีที่ใช้บริการกันประจำ ก็ไม่ทันการณ์ต้องจ่ายค่าน้ำบานตระไทแน่ๆ การเรียนรู้เรื่องราวของอุปกรณ์ การเลือกใช้ การซ่อมแซมไว้บ้าง จึงเป็นทางเลือกที่ดู และควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกวันนี้ อะไรๆ ก็แพงขึ้น ยกเว้นเงินเดือนของเรา ที่ไม่สูงขึ้นบ้างเลย ในขณะที่เจ้าของบริษัทก็รวยเอาๆ อ้าว กลายเป็นบ่นซะอย่างงั้น

ภาพที่ถ่ายมาประกอบในเว็บไซต์ทั้งหมดนั้น เนื่องด้วยข้อจำกัดที่ว่า ถ้าจะต้องซื้อของหลายๆ ชิ้น มาถ่ายภาพเปรียบเทียบให้ดู เพื่อแนะนำข้อดี ข้อเสีย ของอุปกรณ์ แต่ละยี่ห้อ แต่ละแบบ แต่ละรุ่นแล้วล่ะก็ ผมก็ไม่ได้มีสะตุ้งสตางค์มากมายขนาดนั้น จึงขอทำเพียงแนะนำเบื้องต้น คร่าวๆ แล้วท่านนำไปประกอบการตัดสินใจเอาเองแล้วกันครับ เพราะอย่างน้อยรูปที่เห็น อุปกรณ์ที่เห็น ก็คือตัวอุปกรณ์ที่ผมใช้งานอยู่ ถ้าเห็นว่าไม่ดี ไม่เหมาะ ก็จะได้เลือกยี่ห้ออื่น ตามความพอใจของท่านได้เลยนะ อ้อ บางภาพก็มีถ่ายติดชื่อยี่ห้อไปบ้าง ก็อย่าสนใจนัก เพราะผมก็ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียค่าโฆษณาอุปกรณ์ใดๆ เลย ดังนั้น เลือกตามความต้องการของคุณ และเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้เถอะครับ

แม้ว่าตัวผมเองจะไม่ได้ทำงานเป็นช่างแบบเต็มรูปแบบก็ตาม แต่ความความรู้ความสามารถที่ได้นั่น ก็ได้รับมาจากการเฝ้าสังเกต และเป็นลูกมือช่วยพ่อเวลาที่พ่อทำงาน เวลาที่พ่อซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ภายในบ้านจนเกิดเป็นความรู้ติดตัวขึ้นมา อีกทั้งในภาคการศึกษาที่ได้มีโอกาสพลิกตัวแฝงกายเข้าไปเรียนอยู่ภายในรั้วโรงเรียนช่างในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ก่อนจะเลือกที่จะเรียนต่อปริญญาในมหาวิทยาลัยจนจบได้รับปริญญาตรีติดตัวมาจนปัจจุบัน แม้จะไม่ได้ทำงานอยู่ในสายช่าง แต่ความรู้ที่ได้มีติดตัวอยู่นั้น ก็ยังคงมีอยู่ และฝังอยู่ในร่างกายนี่แหละ ชอบที่จะซ่อมแซมและทำเอง สนุกกว่าที่จะจ้างช่างแล้วต้องมาเหนื่อยซ่อมเองอีกรอบนึง และความรู้เหล่นี้จะทิ้งไปให้เสียเปล่า ก็คงไม่ดี มีโฮกาส จึงนำความรู้เหล่านั้นมาแบ่งปันกันผ่านทางเว็บไซต์บ้างตามแต่เวลาและโอกาสจะอำนวย

สุดท้ายที่อยากบอกให้ทราบโดยทั่วกันก็คือ ชีวิตของผมจะไม่มีวันนี้ได้เลย หากคุณพ่อไม่ได้พยายามผลักดัน ส่งเสริม และส่งเสียให้ผมได้มีโอกาสได้เรียน อย่างที่อยากจะเรียน ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และแม้ว่าพ่อของผมจะได้เสียไปแล้ว แต่คุณความดีของท่านก็ยังคงอยู่ ฝากอยู่ในการดำเนินชีวิตของผมนี่แหละ ถ้าผมทำความดี คนก็จะชมคุณพ่อของผมด้วย หากว่าผมทำเลวคุณพ่อของผมก็หมองมัวด้วย และหากบทความใดๆ ที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์นี้ จะพอมีประโยชน์แก่ผู้ใดบ้าง ก็ขอให้คุณความดีเหล่านั้น ส่งผลคุณความดี ไปยังดวงวิญญาณของพ่อผมด้วย แต่หากมีสิ่งใด ที่ผิดพลาดแล้วล่ะก็ ผมขอรับเอาไว้แต่เพียงผู้เดียวครับ

Note : เว็บไซต์ บ้านนายช่าง.com และ baan9chang.com รวมถึงผลงานต่างๆ ที่เขียนให้กับนิตยสารฉบับหนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท หรือเว็บไซต์ชื่อคล้ายกัน หรือ ร้านค้า ร้านอาหารใดๆ ในชื่อเดียวกันนี้นะครับ เพียงแค่ชอบชื่อเดียวกัน ตั้งชื่อเดียวกันเท่านั้น

baan9chang.com
info[at]baan9chang.com

13 thoughts on “About Us”

  1. ขอปรึกษาปัญหางานท่อประปาหน่อยค่ะ คือว่ามีปัญหาเกี่ยวกับก๊อกน้ำติดผนัง ก๊อกผุจนเปื่อยบางส่วนจนหักคาในท่อPVC จึงได้พยายามเอาก๊อกที่หักคาในท่อออก โดยการใช้ใบเลื่อยเหล็กมาเลื่อย แคะยังไงก็ไม่ยอมหลุดออกมา แต่เกิดปัญหาว่าเลื่อยไปโดยเกลียวท่อPVC ด้านนอก จนเป็นรอยขวางของใบเลื่อย
    ตอนนี้ได้ใส่ก็อกใหม่เข้าไปได้ที่เป็นแบบหมุนเข้าไปได้นิดหน่อย แต่ก็สามารถเกาะได้แน่นดี (หมุนเข้าไปได้ประมาณ 2 รอบเกลียวมั้งค่ะ ) แต่ปัญหาคือ มีน้ำฉีดดันออกมาจากรอยที่ถูกเลื่อยไปโดนท่อเกลียวท่อPVC ด้านนอก ประมาณ 2 จุด น้ำฉีดเยอะพอสมควรเลยค่ะ ตอนนี้กลุ่มใจมากจะทำการแก้ไขอย่างไรดีค่ะ ขอคำปรึกษาถึงวิธีการแก้ไขปัญหา หรือว่าจะใช้กาวหรือปูนขาว/ซีเมนต์มาโปกทับตรงรูที่น้ำฉีดออกมา จะทำได้ไหมค่ะ รบกวนขอคำปรึกษาถึงวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหน่อยค่ะ

    ตอบกลับ
    • ผ่านมาหลายวัน กว่าจะว่างมาตอบ สงสัยคนตั้งคำถามแก้ปัญหาได้แล้วแน่ๆ

      อ่านวนไปมาอยู่หลายรอบ เพื่อจะทำความเข้าใจปัญหา จินตนาการให้เห็นภาพ จนสรุปได้ดังนี้
      1. ขณะนี้ ยังมีเกลียวก๊อกน้ำเก่าติดค้างอยู่ เพราะแคะยังไงก็ไม่ออก
      2. ตรงปากท่อเกลียวใน มีร่องรอยใบเลื่อย ที่เลื่อยไปโดนเกลียวนอกๆ
      3. เนื่องจากมีเศษก๊อกเก่าติดอยู่ จึงสวมก๊อกใหม่เข้าไปได้เพียง 2 เกลียว

      สำหรับการแก้ปัญหาเลื่อยโดนท่อแบบนี้ ผมยังไม่เคยเจอ แต่ขั้นแรกต้องหาทางเอาเศษวัสดุเก่าออกให้ได้ก่อน ซึ่งถ้าเป็นผมเอง ไม่มีตัวช่วยถอด ก็ต้องใช้ใบเลื่อยเหมือนกัน แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เลื่อยให้เป็นร่องลึกพอสมควร ในแนวตั้งฉากกับผนัง แต่อย่าให้ถึงตัวเกลียวท่อ PVC และให้เลื่อยไว้ 2 ร่อง ห่างกันเล็กน้อย จากนั้น ก็ใช้ไขควงเล็กๆ กับค้อน ตอกเบาๆ ค่อยๆ งัดอย่างระวัง ให้ชิ้นส่วนเล็กๆ หลุดออกมา แล้วค่อยแคะส่วนที่เหลือ ก็จะง่ายแล้วล่ะครับ

      ส่วนรอยแผลนั้น ถ้ามีไม่มาก และเป็นส่วนปลายๆท่อ PVC ด้วย ถ้าเราพันเกลียวก๊อกน้ำ และสวมเข้าไปได้ลึกเหมือนปกติ อาจจะไม่มีน้ำรั่วซึมออกมาก็เป็นได้ เนื่องจากผมเองไม่มีภาพประกอบ จึงระบุแน่ชัดไม่ได้นะครับ แต่คิดว่าน่าจะได้

      ตอบกลับ
  2. เป็นประโยชน์กับชีวิตประจำวันจริงๆครับ ขอบคุณความรู้ทุกอย่าง และที่สำคัญขอบคุณน้ำใจที่แบ่งปันให้เพื่อนมนุษย์ครับ

    ตอบกลับ
  3. อยากเพิ่มบล๊อกปลั๊กเต้าเสียบเพิ่ม..ต้องทำอย่างไร ?

    ตอบกลับ
    • เรื่องของปลั๊กไฟนั้นต้องขอถาม หรือขอภาพเพิ่มเติมครับ ว่าต้องการเพิ่มในลักษณะไหน เช่น เต้าเสียบของเรานั้น เป็นแบบสองช่อง และไม่มีช่องเสียบสายกราวนด์ด้วย เราสามารถเพิ่มเต้าเสียบได้อีกหนึ่งตัว โดยใส่เพิ่มเข้าไปในกล่องและเปลี่ยนหน้ากากใหม่ให้เป็น 3 ช่องครับ แต่หากเป็นเต้าเสียบแบบมีสายกราวนด์ด้วยแล้วล่ะก็ การเพิ่มเต้าเสียบเข้าไป จำเป็นต้องเจาะกำแพง (หากเป็นปลั๊กฝังกำแพง) ให้กว้างขึ้นเพื่อเปลี่ยนขนาดของบล็อค ให้เป็นบล็อคที่ใหญ่ขึ้นเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสครับ ไม่เห็นภาพไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจตรงกันหรือไม่ เดี๋ยวผมจะลองนำไปเขียนบทความอีกทีครับ

      ตอบกลับ
  4. อยากได้วิธีการต่อก๊อกน้ำจากก๊อกน้ำ 1 หัว ต่อออกเป็น 2 หัว

    ตอบกลับ
    • การต่อก๊อกน้ำให้เป็นสองหัวนั้น ขอถามเพิ่มเติมนิดนะครับ ว่าจุดประสงค์เพื่ออะไร? ที่ถามเช่นนี้ เพราะจะได้ทราบแนวทาง และวิธีที่น่าจะเหมาะสมที่สุดนะครับ

      – หากต่อในห้องน้ำ แนะนำว่าให้ลองเดินหาใน บิ๊กสโตร์ทั้งหลาย (เพราะร้านค้าทั่วไปน่าจะหาได้ยากสำหรับก๊อกน้ำลักษณะนี้ สินค้าที่ขายออกน้อย ร้านเล็กๆ ไม่ค่อยสต็อกของเอาไว้ครับ) เพื่อหาก๊อกน้ำแบบสองหัว โดยหัวแรกจะเป็นก๊อกน้ำปกติ แต่อีกหัวนึง มักจะทำเป็นเกลียวทิ้งเอาไว้ เพื่อให้เราต่อสายน้ำฝักบัวได้ แต่ราคาก็จะสูงสักหน่อย แต่ได้ความสวยงามมาทดแทน
      – อีกวิธีหนึ่งย่อมเยาว์ลงมานิดนึง โดยใช้ ข้อต่อทองเหลือง ซึ่งทำออกมาให้เลือกใช้งานอย่างมากมาย หาซื้อร้านทั่วไปก็ได้อยู่ โดยเริ่มจากข้อต่อสามทางก่อนเลย จะเป็นแบบเกลียวนอก หรือ เกลียวในอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า จะเอาไปต่อกับอะไรอีกบ้าง และให้หัวก๊อกหันไปทางไหน ด้วยครับ
      – หากต่อในจุดที่สามารถตัดต่อท่อน้ำได้ น่าจะใช้วิธีตัดต่อท่อน่าจะเหมาะสมที่สุด และอาจจะดูสวยงามกว่าการต่อข้อต่อหลายๆรอบด้วยครับ

      พูดแบบนี้ อาจจะทำให้นึกภาพไม่ออก มองภาพไม่เห็น ถ้าผมหาอุปกรณ์เจอ จะถ่ายภาพมาให้ดูอีกทีนะครับ

      ตอบกลับ
  5. ชักโครกที่บ้านมันมีอาการรั่วที่ฐานชักโครกครับ แต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลาแถมมันเป็นๆหายๆครับ
    แบบว่าที่บ้านห้องน้ำมันติดกับห้องน้ำอีกบ้านนึง บางครั้งผมกดน้ำทิ้งที่บ้าน ทำให้มีน้ำทะลักออกมาจากด้านหลังของฐานชักโครกของเพื่อนบ้าน แบบว่ามีเศษเนื้อเป็นฝอยๆออกมาด้วยครับ ตอนนี้กลายเป็นลำบากทั้ง2บ้านเลย บางครังเพื่อนบ้านบอกว่า เขากดที่บ้านเขาเองก็เป็นเหมือนกันครับ ส่วนรูปที่ส่งมา เป็นรูปชักโครกที่บ้านนะครับ และที่สำคัญ ที่บ้านเพื่อนบ้านไม่มีบ่อส้วมนะครับ คิดว่าบ้านผมทั้ง22คนคงใช้บ่อเดียวกันแน่ครับ
    ผมพยายามถามกับเจ้าของเก่า เขาบอกว่าไม่แน่ใจเนื่องจากพี่ชายเขาเป็นคนสร้างบ้านทั้ง2หลัง แต่ปัจจุบันนี้คนที่สร้างย้ายไปอยู่ต่างประเทศแล้ว เลยหาข้อมูลไม่ได้
    ถ้าไงรบกวนช่วยหาวิธีแก้ให้หน่อยได้ไหมครับ เนื่องจากเพื่อนบ้านผมลองให้ช่างมายกชักโครกแล้วทะลวงท่องที่บ้านเขาแล้ว แต่ปรากฏว่ามันก๋ยังเป็นเหมือนเดิม
    ปัจจุบันนี้ผมใช้วิธีไปเข้าห้องน้ำที่ปั้มน้ำมันที่อยู่ใกล้บ้าน ลำบากมากครับ

    ตอบกลับ
    • ขอประเมินจากภาพที่เห็นนะครับ

      – จากภาพที่เห็นนั้นชักโครกถูกวางเอาไว้บนพื้นเฉยๆ โดยไม่ได้มีการยาแนวรอบๆฐานชักโครกด้วยมีความจำเป็นไหมครับ?
      – การที่ฐานชักโครกไม่มีการยาแนวไว้ อาจทำให้ชักโครกเคลื่อนที่ได้บ้างจากการชน หรือกระแทกในการทำภาระกิจ อาจทำให้ท่อเคลื่อนที่ผิดตำแหน่งได้ กรณีที่ท่อรับที่พื้น ไม่ได้อยู่สูงขึ้นมาจากพื้นเพื่อรองรับน้ำทิ้งจากชักโครก
      – หากส้วมเต็มแล้วมีการยาแนวรอบชักโครกเอาไว้ ผลที่ตามมาคือกดน้ำไม่ลง เพราะอากาศภายในท่อไม่มีทางไปครับ เมื่อไม่ยาแนวเอาไว้แบบอย่างในภาพ ทำให้อากาศมีทางไป คล้ายๆกับการเทน้ำออกจากขวดที่อากาศพยายามดันตัวสวนขึ้นมา กรณีนี้ก็เหมือนกัน เพราะน้ำพยายามไหลลงไปแต่อากาศในท่อไม่มีที่ไปก็เลยดันสวนกลับขึ้นมา แล้วมาออกรอบๆ ชักโครก ทำให้บางครั้งมีเศษตามออกมาด้วย
      – จากที่กล่าวมานั้น ผมคาดว่า ท่อที่ต่อลงไปใต้พื้นนั้น ของทั้งสองบ้าน เป็นท่อที่ต่อถึงกัน (นึกตัวตัว T นะครับ) แล้วค่อยรวมกันเป็นท่อเดียวตรงไปยังบ่อเกรอะ ที่บอกว่ามีแค่บ่อเดียวแต่รับสองบ้าน ทำให้บางครั้งน้ำไหลลงไปด้านล่างไม่ได้ อากาศก็ดันขึ้นมา น้ำกับอากาศก็เลยหาทางไปที่ใกล้ที่สุดที่อากาศจะไปโผล่ได้ ก็คือบ้านข้างๆนั่นแหละครับ ซึ่งก็คงจะไม่ได้ยาแนวใต้ฐานชักโครกเหมือนกัน อากาศสามารถมุดออกไปได้ พร้อมๆกับน้ำบางส่วน
      – ผมไม่แน่ใจว่าบ่อนั้นอยู่บ้านใดนะครับ แต่ลองสำรวจดูว่า มีท่ออากาศ หรือท่อหายใจให้มันหรือไม่ ถ้าไม่มีต้องต่อครับ เพื่อระบายแก๊สที่อยู่ภายใน และให้อากาศหมุนเวียนได้ เมื่อเราทำการกดน้ำชักโครก น้ำจะไหลลงไปด้านล่าง โดยที่อากาศก็จะถูกดันลงไปด้านล่างด้วย แล้วไปออกทางท่อหายใจ ทำให้ไม่มีอากาศดันสวนขึ้นมาครับ
      – ถ้ามีท่ออากาศแล้ว ตัวชักโครกน่าจะสามารถยาแนวปิดได้แล้วครับ เพื่อไม่ให้ชักโครกเคลื่อนที่ ขยับเขยื้อนได้

      ข้างต้นเป็นสมุติฐานคร่าวๆ ที่น่าจะต้องพิจารณาในเบื้องต้นครับ ผมได้อ่านแล้วก็รู้สึกถึงความลำบากทันที ถ้าเป็นตัวผมมีบ้านอยู่อาศัย แต่ทำธุระส่วนตัวไม่สะดวกแบบนี้ ลำบากใจครับ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมที่ผมพอจะช่วยได้ ก็แจ้งได้นะครับ

      ตอบกลับ
  6. ขอบคุณมากครับ บทความแก้โถชักโครกรั่ว นี่ชัดเจน ทำได้จริง

    ตอบกลับ
    • ขอบคุณมากครับ และดีใจที่สิ่งที่ได้บันทึกไว้ ได้ช่วยให้คนอื่น แก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นครับ

      ตอบกลับ

Leave a Comment

4 × 1 =

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.