ข้อต่อเกลียวใน PVC ฝังในกำแพง เกิดการปริแตก ต้องเปลี่ยนใหม่ ทำอย่างไรดี

ข้องอ PVC 90 องศา เกลียวใน หรือบางทีก็เป็นข้อต่อตรงเกลียวใน แต่ถ้าฝังท่อทั้งหมดไว้ในกำแพงมักจะเป็นข้อต่อ 90องศา เกลียวใน ซึ่งจะมีปัญหาอยู่ปัญหาหนึ่งที่ตามกวนใจอยู่เสมอๆ ก็คือเทปพันเกลียว การพันเทปพันเกลียวไปบนเกลียวของตัวก๊อกน้ำ ก่อนที่เราจะขันก๊อกน้ำเข้าไปยังข้อต่อ PVC ที่ฝังอยู่ในกำแพง โดยปกติถ้าเราพันเกลียวน้อยเกินไป ก็ต้องถอดออกมาพันเทปเพิ่ม แต่หากพันมากเกินไปล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น ติ๊กต๊อกๆๆ ไม่รอคำตอบละ คำตอบคือ ข้อต่อเกลียวในเหล่านั้น มีโอกาสเกิดการปริแตกได้ เพราะถ้าเราพยายามฝืนไขก๊อกที่มีเทปพันเกลียวพันไว้มากเกินไป เข้าไปที่ข้อต่อ ด้วยความรู้สึกที่ว่า แน่นดี น้ำจะได้ไม่รั่ว แต่อะไรที่มากเกินไป ปัญหาก็จะตามมา เพราะจะทำให้ข้อต่อพลาสติกเกิดความเครียด พร้อมจะปริได้ตลอด แล้วถ้าปริแตกก็งานเข้าละครับ ต้องสกัดกำแพงออกเล็กน้อย (แต่บางทีก็ไม่เล็กน้อย) เพื่อจะเปลี่ยนท่อข้องอ 90 องศาเกลียวใน เสียใหม่ ถ้าเป็นข้อต่อตรงเกลียวใน มักจะไม่ค่อยเห็นเป็นแบบฝังในกำแพง แต่ก็เรียกได้ว่า งานเข้าเหมือนๆ กัน หนีไม่พ้นแน่ๆ

ข้อต่อแตก น้ำหยดติ๊งๆ เลยทีเดียว
ข้อต่อแตก น้ำหยดติ๊งๆ เลยทีเดียว

ดังนั้นทางที่ดี ให้เราค่อยๆ เพิ่มจำนวนรอบการพันเทปพันเกลียวไปทีละน้อยดีกว่า พันครั้งแรกประมาณ 5 ถึง 7 รอบ ถ้ายังไม่พอ ไขก๊อกเข้าไปแล้วยังรู้สึกว่าหลวม ค่อยคลายก๊อกออกมาพันเพิ่ม จะปลอดภัยที่สุด เพราะมาตรฐานแบบไทยๆ เอาแน่อะไรไม่ได้เลย เทปพันเกลียวคุณภาพดีหน่อยก็ทำมาหนาสม่ำเสมอดี บางยี่ห้อก็บางสุดๆ แทบจะเป็นเยื่อกระดาษ สิ่งสำคัญอยู่ที่ราคา (มันทำให้นึกถึงกระดาษทิชชู่แฮะ จะบางไปไหนเนี่ย) เพราะสินค้าพวกนี้เค้าวัดกันที่ความยาวเป็นหลัก ดังนั้น ความยาวเท่าๆกัน ถ้าจับเอาเฉพาะวัสดุที่ใช้งาน มาชั่งน้ำหนัก ไม่มีทางเท่ากัน เพราะความหนาความบางมันไม่เท่ากันนี่แหละ (นี่ยังไม่ได้พูดถึง ขนาดของเกลียวของก๊อกน้ำด้วยซ้ำ) ดังนั้น ถ้าใครจะกำหนดจำนวนรอบการการพันเทปพันเกลียวเอาไว้ ตายตัว ขอบอกว่า ไม่แน่นอนเสมอไปครับ ต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ แก้อย่าใจร้อน เดี๋ยวปัญหาจะตามมายาว

สำหรับข้อต่อแบบฝังกำแพงเพื่อต่อก๊อกน้ำนั้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนๆ โน้น หรือแม้แต่ในปัจจุบัน ถ้าไม่ใช่หมู่บ้านโครงการใหญ่ๆ น่าจะยังไม่มีโครงการไหน ที่ใช้ท่อข้อต่อเกลียวในที่เป็นทองเหลืองเป็นแน่ เพราะต้นทุนการดำเนินการจะเพิ่มอีกหลายตังค์ทีเดียว แต่สำหรับบ้านเราถ้าก่อสร้างเอง และกำหนดได้เอง ควรที่จะเลือกข้อต่อที่มีเกลียวเป็นทองเหลือง เพื่อความคงทนที่มากขึ้น และช่วยลดปัญหาเมื่อต้องการเปลี่ยนก๊อกน้ำใหม่ เพราะสาเหตุที่ไขก๊อกน้ำเข้าไปแล้วปริแตกอีกจากการใช้เทปพันเกลียวท่อมากเกินไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนเป็นเกลียวในที่เป็นทองเหลืองแล้วจะไม่มีปัญหาเลย เพราะถ้าเราไม่ระมัดระวังในการทำงาน โอกาสปริแตกของท่อก็จะยังมีอยู่เช่นเดิม

กรณีตัวอย่างวันนี้ เป็นกรณีของก๊อกสนาม แต่ข้อต่องอ 90องศา ฝังอยู่ในกำแพง ดังนั้นต้องเริ่มการทำงานจากการสกัดปูนออกก่อน แต่ถ้าหากเป็นห้องน้ำแล้วล่ะก็ เรื่องยาวกว่าการสกัดปูนแน่ เพราะการเลาะเอากระเบื้องปูผนังออกออก ไม่มีโอกาสเลยที่เราจะได้ใช้กระเบื้องเดิมแปะกลับเข้าไปใหม่หลังการซ่อมแซม ถ้าเรามีเก็บสำรองกระเบื้องลายเดียวกับในห้องน้ำไว้บ้าง ก็คงได้ความสวยงามกลับคืนมา แต่ถ้าไม่มีแล้วล่ะก็ เราคงต้องเสียเงินอีกมากพอควรเพื่อเอาความสวยงามกลับมา หรือยอมทนความน่าเกลียดเห็นกระเบื้องแหว่งๆ ดังนั้น เวลาจะพันเกลียวก๊อกน้ำ หรือสต๊อปวาล์ว (stop valve) ก็ค่อยๆ พันอย่ารีบร้อนและ ไม่ต้องพันหนาเกินไป

ที่นี้เรามาดูขั้นตอน วิธีการทำงานกันดีกว่าครับ

แก้ปัญหา ข้อต่อเกลียวใน PVC ปริแตกและน้ำหยด

ข้อต่อแตก น้ำหยดติ๊งๆ เลยทีเดียว
ข้อต่อแตก น้ำหยดติ๊งๆ เลยทีเดียว

เห็นกันชัดๆ เลยว่าน้ำหยดติ๋งๆ จากบริเวณคอของก๊อกน้ำ หรือบริเวณข้อต่อ PVC นั่นแหละ แค่ปริแตกแถวๆปากท่อของข้อต่อเกลียวใน น้ำก็หยดต่อเนื่องได้แล้วครับ

สกัดเอาปูนรอบๆ ท่อออกก่อน
สกัดเอาปูนรอบๆ ท่อออกก่อน

เราสามารถใช้ค้อนขนาดที่เราใช้ได้ถนัดมือ กับสกัดตัวเล็กๆ หรือไขควงแบบตอกได้ (แบบที่ก้นไขควงเป็นเหล็ก) สกัดเอาปูนออกไปบางส่วนแล้ว ก็จะมีลักษณะดังในภาพ ถ้าหากใครจะใช้เครื่องมือไฟฟ้าทุ่นแรงก็ย่อมได้ แต่ต้องระมัดระวังท่อประปากันหน่อยแล้วกันนะ ถ้าพลาดพลั้งไป เดี๋ยวงานจะงอกเพิ่มอีก แล้วจะหาว่าไม่เตือนไม่ได้นะ

ดูร่องรอยของการปริกแตกกันชัดๆ
ดูร่องรอยของการปริกแตกกันชัดๆ

เอาล่ะ มองเห็นกันชัดๆ ว่ารอยแตกมันอยู่ตรงไหน นี่แหละเจ้าปัญหา ทำให้น้ำหยดติ๊งๆ ตลอดเวลา สังเกตว่า ตัวท่อจะเป็นท่อ PVC งอ 90 องศา เกลียวใน แบบทั่วไปและเกลียวที่อยู่ภายในท่อ ไม่ใช่เกลียวทองเหลือง

เมื่อข้อต่อปริแตก ก็ต้องจัดการประหารด้วยการตัดหัว(ข้อต่อ)ทิ้ซะ
เมื่อข้อต่อปริแตก ก็ต้องจัดการประหารด้วยการตัดหัว(ข้อต่อ)ท้ิงซะ

จะมัวโอ้เอ้เสียเวลาไม่ได้ คนที่บ้านกำลังรอใช้น้ำกันอยู่ ต้องรีบคว้าเอาใบเลื่อยเหล็ก ใช่แล้ว ใบเลื่อยเพียวๆ ไม่มีโครงเลื่อย แต่ถ้าใครมีด้ามจับใบเลื่อย ก็ใช้แบบนั้นก็ได้ ถนัดมือขึ้นมาอีกหน่อย นำมาเลื่อยเอาข้อต่อเจ้าปัญหาทิ้งไป เพราะกรณีนี้ ท่อฝังติดอยู่ในกำแพง ไม่มีทางที่จะใช้ คีมตัดท่อ หรือ pipe cutter ได้เลย เพราะฝังในกำแพงอยู่แบบนี้ ต้องใบเลื่อยสถานเดียว เอาน่า ค่อยๆทำไป ค่อยๆเลื่อย เดี๋ยวก็เสร็จแล้ว อดทดนิดนึง

ตัดให้ติดโคนข้อต่อ 90องศา ให้มากที่สุด
ตัดให้ติดโคนข้อต่อ 90องศา ให้มากที่สุด

เมื่อตัดเอาข้องอ 90 องศาทิ้งไปได้แล้ว ก็มาดูร่องรอยบาดแผลกัน สังเกตเห็นไหมว่าผมพยายามเลื่อยให้ชน หรือชิดกับข้อต่อตัวเดิมให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ความยาวเดิมของท่อหดสั้นลงไปมากนัก เมื่อสวมข้องอ 90 ตัวใหม่ลงไปที่ท่อเดิม เพราะเราต้องการที่จะเก็บความยาวของท่อที่ฝังอยู่ที่กำแพงให้มากที่สุด และท่อน้ำประปา ยิ่งตัดก็ยิ่งสั้น ถ้าสั้นมาก ก็จะต้องต่อ เสียเวลากันไปใหญ่

ตัดด้วยใบเลื่อย แผลไม่ค่อยน่าดู เป็นขุย PVC
ตัดด้วยใบเลื่อย แผลไม่ค่อยน่าดู เป็นขุย PVC

การตัดท่อด้วยการใช้ใบเลื่อยเหล็กแบบนี้ จะทำให้รอยตัดของท่อ มีลักษณะอาการเยิน เนื่องมาจากใบเลื่อย ทำให้มีเศษพลาสติก PVC เป็นขุยๆ อย่างที่เห็น

ขูดตบแต่งบาดแผลเสียหน่อย ให้ดูสวยขึ้นมาบ้าง
ขูดตบแต่งบาดแผลเสียหน่อย ให้ดูสวยขึ้นมาบ้าง

เราต้องทำความสะอาด เอาขุย PVC บนท่อน้ำ ที่เกิดจากการเลื่อยด้วยใบเลื่อยโลหะทิ้งไปให้หมดก่อน วัสดุใกล้ตัวที่สุด และพอใช้ได้ในตอนนี้ ก็คือส่วนที่เป็นสัน ด้านหลังของใบเลื่อยเหล็กนั่นเอง ค่อยๆ ขูดเอาขุย PVC เหล่านั้นออกไปให้หมด แต่อย่าลืมว่าต้องระมัดระวัง ให้มีเศษวัสดุตกลงไปในท่อให้น้อยที่สุดด้วยล่ะ ถ้าไม่มีเศษใดๆ ตกลงไปเลย จะดีมากๆ แต่ถ้าใครใช้มีดพับแล้วล่ะก็ ง่ายกันกันเยอะเชียว

สงสัยไหม เอาไว้ทำอะไร?
สงสัยไหม เอาไว้ทำอะไร?

สงสัยไหมว่า เอาเศษกระดาษก้อนเล็กๆแบบนี้มาปิดปากท่อไว้ทำไม สาเหตุก็เพราะกรณีของท่อน้ำในวันนี้ สำหรับบทความนี้ ได้ลองเอาท่อข้อต่องอ 90องศาเกลียวในตัวใหม่มาวางเทียบแล้ว พบว่ายังไม่ลึกพอ พื้นที่สำหรับการทากาวประสานน้อยไปหน่อย ถ้าต่อไม่ดี ทากาวไม่พอ โอกาสที่ท่อจะหลุดออกจากกัน ภายใต้แรงดันน้ำที่สูง ก็มีโอกาสเป็นไปได้ ดังนั้นเราต้องทำการสกัดปูนออกเพิ่มเติมอีกสักนิด จึงต้องหาเศษกระดาษมาวางปิดปากท่อเอาไว้แบบชั่วคราว เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เศษปูนกระเด็นลงไป แต่จะปิดแบบคลุมมิดเอาหนังยางรัด ก็รู้สึกว่าทำงานได้ไม่ถนัด เลยปิดแค่ผิวๆ แบบนี้แหละพอแล้วสำหรับผม

เทียบท่อ เพื่อกะระยะความลึก กันแบบเห็นๆ
เทียบท่อ เพื่อกะระยะความลึก กันแบบเห็นๆ

สกัดปูนออกไปได้บางส่วนแล้ว ทีนี้ก็ลองเอาข้อต่อมาเทียบกันดูคร่าวๆ เพื่อจะตรวจสอบว่าท่อส่วนที่จะต้องสวมเข้าหากัน มีความลึกมากพอหรือยัง ถ้าดูแล้วพอไปวัดไปวาได้ ทากาวแล้วเชื่อมติดกันดี ไม่หลุดออกมาแน่นอน ก็จัดการเขี่ยเอาเศษฝุ่นผงปูนที่เกิดจากการสกัด ออกจากบริเวณโดยรอบซะ เรียบร้อยแล้วจึงเอาเศษกระดาษก้อนเล็กๆนั้นออกไป

ทดลองสวมท่อลงไปดูก่อน เผื่อต้องปรับปรุง
ทดลองสวมท่อลงไปดูก่อน เผื่อต้องปรับปรุง

ลองเสียบข้อต่อเกลียวใน 90 ลงไปที่ตัวท่อดู แล้วตรวจดูว่าติดๆ ขัดๆ อะไรไหม เพราะทางด้านหลังของท่อเรามองไม่เห็น (ถ้าใครมีกระจกงอๆแบบเครื่องมือหมอฟัน จะลองเอามาใช้ดูก็ได้นะ เผื่อจะมองเห็นง่ายขึ้น) อาจจะมีเศษปูนก้อนเล็กๆ ติดค้างอยู่บนกำแพงด้านหลังของท่อ ทำให้เสียบข้อต่อลงไปไม่ได้ แต่ก็อย่าเพิ่งออกแรงกด หรือเสียบข้อต่อลงไปแบบเต็มแรง เดี๋ยวจะดึงเอาออกมาทากาวประสานท่อไม่ได้ และลองดูดีๆ ข้อต่อที่นำมาเปลี่ยนในวันนี้เป็นข้องอ PVC 90 องศาเกลียวใน ชนิดเกลียวทองเหลือง

ส่องสายตาเล็งดูก่อน
ส่องสายตาเล็งดูก่อน

ดูๆ เล็งๆ ว่าข้อต่อเกลียวในของเรา จะต้องไม่ชนกับปูนกับ หรือกำแพงด้านไหนเลย ไม่งั้นเดี๋ยวจะสวมข้อต่อเกลียวในไม่ลง เพราะติดเศษปูนชีวิจจะยุ่งยาก กาวก็ทาแล้ว และกำลังจะแห้ง ดึงข้อต่อไม่ออก ออกแรงกดใส่เข้าไปก็ไม่ได้ ครึ่งๆ กลางๆ ล่ะก็เสร็จแน่

ท่อดูเลอะเทอะมากเดี๋ยวทากาวไม่ติด
ท่อดูเลอะเทอะมากเดี๋ยวทากาวไม่ติด

ท่อน้ำส่วนที่เราจะต่อกับข้อต่อเกลียวใน ดูสกปรกเลอะเทอะอยู่มากทีเดียว ถ้าเราทากาวประสานท่อ แล้วต่อท่อเข้ากับข้อต่อเลย อาจจะเกิดปัญหาภายหลังได้ เพราะท่อต่อกันไม่แนบสนิท อาจจะเกิดการรั่วซึมของน้ำ แล้วงานก็จะงอกเสียเวลาไปใหญ่

หั่นกระดาษทรายเตรียมขัด
หั่นกระดาษทรายเตรียมขัด

ผมใช้กระดาษทรายเนื้อละเอียด ฉีกออกมาทำเป็นแผ่นเล็กๆแบบนี้ จะได้สอดไปที่ด้านหลังของท่อน้ำได้ มือจับได้ถนัด และขัดได้สะดวก ส่วนกระดาษทรายที่ใช้ก็จะเป็นกระดาษทรายน้ำ ที่เป็นแผ่นสีดำๆ ใช้สำหรับขัดทั่วไป

ดึงซ้าย ดึงขวา หรือจะทแยงก็ได้นะ
ดึงซ้าย ดึงขวา หรือจะทแยงก็ได้นะ

วิธีการขัดท่อน้ำก็คือ มือซ้ายดึงทีนึง มือขวาก็ผ่อน แล้วมือขวาดึง มือซ้ายก็ต้องผ่อน อย่าฝืนออกแรงดึงพร้อมๆ กันนะ เดี๋ยวงานไม่เสร็จกันพอดี เราจะค่อยๆ ถูไปถูกมา ซ้ายทีขวาทีแบบนี้ ท่อน้ำด้านหลังที่เรามองไม่เห็นก็จะสะอาดเอง ถึงแม้ว่าเราจะมองไม่เห็น แต่เชื่อเถอะว่าสะอาดแน่นอน (ถ้าไม่อู้ดึงแค่ทีสองทีเสร็จนะ)

ขัดเสร็จแล้ว เป็นรอยแต่ไม่เป็นไร
ขัดเสร็จแล้ว เป็นรอยแต่ไม่เป็นไร

เมื่อขัดท่อด้วยการ โยกซ้ายโยกขวา ถูไปถูมาแล้ว ด้านหลังของท่อน้ำ และด้านข้างก็จะสะอาด เหลือเพียงด้านหน้า ก็คงไม่เกินความสามารถกันแล้ว ขัดให้ดีๆก็จะสะอาด แต่ที่มองเห็นท่อน้ำเป็นริ้วเป็นรอยแบบนี้ดีแล้ว ไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องให้ผิวเรียบ เพราะการที่ท่อเป็นรอยๆ ร่องๆ แบบนี้ กาวประสานท่อที่ทาลงไป จะได้ยึดติดกับท่อได้สนิทดี

กาวที่ถูกนำมาใช้ในงานนี้
กาวที่ถูกนำมาใช้ในงานนี้

กาวที่เลือกใช้ เป็นกาวประสานท่อ PVC ชนิดหลอด ซึ่งราคาจะสูงกว่ากาวกระป๋อง แบบที่ช่างประปาชอบเลือกเอามาทาท่อให้เรา กรณีไม่ระบุ ช่างก็เลือกถูกไว้ก่อนเสมอ

ใช้กับท่อรับแรงดัน
ใช้กับท่อรับแรงดัน

ระบุไว้ชัดเจนที่กล่อง ใช้กับท่อรับแรงดัน ซึ่งตามบ้านทั่วไปขอแนะนำให้ใช้แบบนี้แหละ แรงยึดเกาะของท่อดี ไม่ต้องกลัวว่าแรงดันของปั๊มน้ำจะดันให้ท่อหลุดออกจากกัน ส่วนท่อที่ไม่รับแรงดันก็ได้แก่ ระบบท่อน้ำทิ้งตามบ้านเรือน ท่อน้ำทิ้งจากห้องน้ำ ชักโครก ท่อระบายน้ำฝน หรือเป็นท่อในภาคการเกษตรที่ใช้แรงดันไม่มากนัก

ป้าย แล้วค่อยละเลง
ป้าย แล้วค่อยละเลง

บีบออกมาแล้วป้ายกาวลงไปที่ท่อ จากนั้นก็ทาให้ทั่วทั้งท่อ ทั่วทั้งบริเวณที่จะต่อท่อเข้าด้วยกัน อาจจะใช้ไขควงช่วยป้ายให้ทั่ว หรือใช้วัสดุใดๆก็สุดแท้แต่ความถนัด ที่แน่ๆต้องทำให้เร็วเข้าไว้ เพื่อไม่ให้กาวแห้งไปเสียก่อน เดี๋ยวจะสวมไม่ลง ส่วนผมเองนั้น ด้วยความถนัดส่วนตัวจึงใช้นิ้วละเลงเลย เร็วและถนัดที่สุด เสร็จแล้วค่อยเช็ดกับกระดาษทิชชู่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์อีกที แม้จะสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง แต่ผมไม่ได้สัมผัสทุกวันเหมือนช่างประปาแท้ๆ เพียงแค่นี้ไม่เป็นไร

ละเลงให้ไว ทาให้ทั่ว
ละเลงให้ไว ทาให้ทั่ว

ดูดีๆทากาวประสานท่อให้ทั่วๆ ด้านหลังมองไม่เห็นก็กะๆ เอาแล้วกัน พยายามเล็กน้อย

ด้านนี้ก็ต้องทาด้วย
ด้านนี้ก็ต้องทาด้วย

ด้านที่เป็นตัวข้อต่อเกลียวใน 90 องศา ก็ทาด้วยเช่นกัน ทาให้ทั่วก่อนที่จะประกอบร่างท่อทั้งสองด้านเข้าด้วยกัน

สวมให้แน่น จัดให้ตรง
สวมให้แน่น จัดให้ตรง

เมื่อทาครบทั้งสองด้านทั้งสองท่อแล้ว ก็นำข้อต่อมาสวมใส่เข้าไปที่ท่อน้ำ ก่อนจะดันเข้าไปให้สุด อ้อ ก่อนจะออกแรงกดลงไป อย่างลืม หมุนทิศ หมุนทางให้เกลียวท่อหันออกมาตรงๆ ดูแล้วขนานกับกำแพงด้วยนะ ถ้าปล่อยให้กาวแห้งไปก่อนจะแก้ไขอะไรไม่ได้ พอติดก๊อกน้ำเข้าไปก็เอียงซ้ายเอียงขวา ดูไม่สวยงามหมดท่าเลยเชียวนา

กาวเยิ้มเล็กน้อยแต่ไม่เป็นไร
กาวเยิ้มเล็กน้อยแต่ไม่เป็นไร

ถ้ามีกาวเยิ้มและล้นออกมาเล็กน้อย ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็แน่ใจได้ว่าติดแน่นสนิทแน่นอน แต่ถ้าล้นทะลักมากๆนี่ต้องพิจารณา กาวบางส่วนอาจจะทะลักเข้าไปภายในท่อ ไปเกะกะขวางการไหลของน้ำได้เหมือนกัน

พันเกลียวต่อก๊อก ก็เรียบร้อย
พันเกลียวต่อก๊อก ก็เรียบร้อย

จากนั้นก็ทิ้งไว้ให้กาวเริ่มแห้งสัก 20 นาที รอให้แน่ใจว่าตอนสวมก๊อกน้ำเข้าไป ท่อจะไม่หมุนตาม จนทำให้รอยต่อเกิดการรั่วขึ้น หรือถ้าเปิดน้ำประปา เปิดปั๊มน้ำแล้ว แรงดันที่มีจะไม่ดันข้อต่อให้หลุดออกมา และเมื่อครบเวลาแล้ว (กะๆเอานะ ยิ่งนานยิ่งดี) จึงค่อยนำก๊อกน้ำที่พันเทปพันเกลียวเรียบร้อยมาสวมใส่เข้าไปที่ข้อต่อเกลียวใน แล้วเปิดน้ำทดสอบระบบประปาได้เลย ส่วนการฉาบปูนปิดนั้น ทิ้งไว้ทีหลังได้ครับ ตอนนี้ต้องขอตัวไปเปิดน้ำก่อน เดี๋ยวคนทั้งบ้านจะไม่ได้ใช้น้ำกัน ถ้าจะต้องรอช่างประปาจำเป็นฉาบปูนก่อน

27 thoughts on “ข้อต่อเกลียวใน PVC ฝังในกำแพง เกิดการปริแตก ต้องเปลี่ยนใหม่ ทำอย่างไรดี”

  1. สวัสดีครับ
    อาจะนอกเรื่องหน่อย
    อยากจะสอบถามว่า ถ้าเราใช้ก๊อกแบบที่มีกุญแจล๊อคได้
    แล้วเราอยากจะติดกาวทีก๊อกเลยครับ
    เอาแบบติดตายไปเลยครับ ควรจะทำยังไงดีครับ
    ผมลองใช้กาวต่อท่อ แบบกระป๋องทาที่เกลียวเลย
    แต่มันไม่ยอมติดกัน มันไม่แห้งครับ
    เกลียวในตรงท่อ pvc เป็นเกลียวเหล็กด้วยครับ
    หรือว่าต้องใช้กาวพิเศษครับ

    ผมก็เลยต้องเอาก๊อกออกมาใหม่
    แล้วใส่เข้าไปใหม่โดยใช้เทปพันเกลียวแทนครับ
    พอหมุนก็อกเข้าไปสุดและตรงแล้ว
    ผมใช้กาว epoxy ทาตรงระหว่างท่อ pvc กับ ก็อก
    ให้มันประสานกันจะได้หมุนออกไม่ได้ครับ
    แต่รู้สึกว่าน้ำมันเริ่มซึมออกมานิดๆ
    สงสัยเทปพันเกลียวไม่พอ

    ตอบกลับ
    • สวัสดีครับ

      กาวทาท่อ PVC ไม่สามารถใช้ติดก๊อกน้ำกับ ท่อ PVC เกลียวในได้ครับ ยิ่งท่อที่มีเกลียวเป็นทองเหลือง ยิ่งเป็นไปไม่ได้ กาวทาท่อ PVC จะทำหน้าที่ละลายพื้นผิวท่อ PVC เมื่อกาวแห้งพื้นผิว PVC ทั้งสองด้านที่เรานำมาต่อเข้าด้วยกัน ก็จะหลอมรวม ประสานกันอย่างแน่นหนา แต่กาวนี้ไม่มีผลใดๆ กับชิ้นส่วนที่เป็นโลหะครับ

      หากถามผม ก็คงจะใช้วิธีเดียวกับที่คุณใช้อยู่นะครับ นั่นก็คือใช้อีพ็อกซี่ครับ แต่ที่บอกว่าเห็นมีน้ำซึมๆ อยู่นั้นมาจากการพันเกลียวที่น้อยไปแน่นอนครับ

      วิธีป้องกันไม่ให้มิเตอร์น้ำหาย การประปาจะใช้วิธีการก่ออิฐ คลุมมิเตอร์น้ำจนเหลือให้เห็นเพียงแค่ส่วนของตัวเลขมิเตอร์เท่านั้น บางบ้านก็ทำลูกกรงเหล็กขนาดเล็ก มาครอบเอาไว้ ป้องกันการหายได้ดี ส่วนการขโมยใช้น้ำ หากใส่กุญแจที่ก๊อกน้ำ และใช้กาว epoxy พอกบริเวณรอยต่อทั้งหมดให้แน่นหนา ก็ช่วยได้เยอะแล้วล่ะครับ คนขโมยไม่น่าจะอยากใช้น้ำจนต้องทุบทำลายข้าวของกันนะ คิดว่าอย่างงั้น

      ตอบกลับ
  2. ผมมีปัญหาคือ ท่อประปาเป็นท่อแป๊บ กาวาไนซ์ มันผุรั้่วที่ผิว ผมเลยอยากเปลี่ยนในช่วงที่มันรั้่วเท่านั้น หากแต่เพื่อความง่าย ผมเลยอยากที่จะเปลี่ยนเป็น พีวีซี แทนจะทำได้รึป่าวครับ และอีกปัญหาคือ ท่อฝังในผนังเป็นตัวผู้ พันเกรียวลำบากมากๆ จะทำอย่างไรดีครับ ถ้าจะเปลี่ยนเป็น
    พีวีซี เหมือนในประเด็นแรกด้วย ขอบคุณมากๆครับ

    ตอบกลับ
  3. รบกวนหน่อยนะคะ แล้วในกรณีที่เราต้องการจะอุดเลยควรทำยังไงดีอ่ะคะ

    ตอบกลับ
    • ขออภัยนะครับถ้าตอบช้าไป เนื่องจากผมไม่เห็นภาพ และคำอธิบายสั้นไปสักนิด ขอนั่งเทียนนึกเอาเองนะครับ ถ้าข้อต่อเกลียวในเป็น pvc แต่มีรอยปริแตกแล้วแต่ไม่มาก และถ้าต้องการปิดข้อต่อจุดนี้ทิ้งไปสามารถใช่จุกอุดน้ำแบบเป็นเกลียวได้ครับ ไม่ต้องพันเกลียวด้วยเทปใดๆ แต่ทาด้วยกาวทาท่อแบบที่เป็นกระป๋องก็พอครับ ทาให้ทั่วเกลียว แล้วรีบไขไปที่ข้อต่อนะครับอย่ารอนาน เพราะกาวทาท่อเหล่านี้มีคุณสมบัติของการละลายผิว pvc ให้อ่อนตัวลงด้วยเพื่อที่เนื้อ pvc ทั้งสองส่วนจะได้ประสานกันอย่างแนบแน่น

      แต่ถ้าข้อต่อ pvc ที่เกลียวในเป็นทองเหลืองแต่เกิดการแตก ไขด้วยก๊อกน้ำที่พันด้วยเทปที่หนามาก และออกแรวด้วยเครื่องมือชิ้นใหญ่แบบไม่ยั้งมือ เกลียวในทองเหลืองก็เอาไม่อยู่ครับ และจะใช้จุกอุดน้ำพร้อมกับทาท่อก็ไม่น่าจะอยู่ เพราะน้ำยาทาท่อเค้าเอาไว้ประสาน pvc เข้าด้วยกันครับ ไม่ใช่ pvc กับทองเหลือง

      แต่ถ้าข้อต่อเกลียวใน ในจุดที่ต้องการปิดทิ้งนั้น ไม่ได้มีการปริแตกใดๆ ให้ใช้จุกอุดน้ำที่เป็นเกลียว พันด้วยเทพพันท่อ แล้วไขเข้าไปที่ข้อต่อเกลียวในได้เลยครับ

      อย่างไรก็ตามวิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดต้องขึ้นอยู่กับหน้างานด้วยครับ เนื่องจากผมไม่เห็นภาพ และคำอธิบายที่น้อยเกินไปทำให้นึกภาพตามไม่ออกบางทีอาจจะไม่ต้องใช้วิธีที่กล่าวมาข้างต้นก็ได้ครับ

      ตอบกลับ
  4. ถ้าเป็นอาการแบบนี้ละค่ะจะทำยังไง ก๊อกน้ำเป็นสนิมหักข้างในท่อเลยค่ะ

    ตอบกลับ
    • ข้อต่อเป็นเหล็กหรือเปล่าครับ? ถ้าข้อต่อเกลียวในเป็นเหล็ก คาดว่าน่าจะพังไปพร้อมๆ กับตัวก๊อกแล้วเช่นกัน คงต้องรื้อกันยาวครับ แต่ถ้าข้อต่อเกลียวในนั้นเป็น PVC เกลียว PVC หรือ ทองเหลืองก็ตาม ขอแนะนำว่า ค่อยๆ ใช้ไขควงเล็กๆ กับค้อนค่อยๆ ตอกกระเทาะมันออกครับ แต่ต้องระวังเกลียวเสียหายด้วย เหล็กผุขนาดห้กคานี่ ไม่น่าจะเอาออกยากแล้วนะครับ ค่อยๆ กระเทาะก็น่าจะเอาออกได้หมด ทำงานยากหน่อย แต่ก็ไม่ต้องรื้อยาว หรือถ้าไม่ออกจริงๆ คงต้องกระเทาะกำแพง แล้วเปลี่ยนข้อต่อครับ

      ตอบกลับ
  5. ขอบคุณมากๆ ครับ ขั้นตอนละเอียดดูแล้วทำตามได้ง่าย

    ตอบกลับ
    • จากภาพที่เห็นนะครับ คาดเดาว่าใช้ประแจเลื่อนในการขันออกใช่ไหมครับ ถ้าเราใช้ประแจเลื่อนมักจะเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ เนื่องจากปากของตัวประแจเลื่อนจะขยับให้ตัวได้เล็กน้อย ทำให้เวลาขันอาจจะถ่างออกจนหลุดเหลี่ยม และทำให้เหลี่ยมหายได้แบบนี้ เมื่อเป็นแบบนี้แล้วถามว่าจะไขออกได้อย่างไร ขอตอบว่า ใช้คีมล็อคครับ เลือกที่ขนาดใหญ่สักหน่อยนะครับ จะได้มีแรงบีบ และหมุนได้ง่าย หากไม่ได้อีก ต้องพึ่งประแจคอม้าครับ เพราะความยาวของตัวประแจ จะทำให้เราบีบวัตถุแบบทรงกระบอกแบบนี้ได้ถนัดดีนักครับ ส่วนภาพของประแจคอม้า ลองเลื่อนขึ้นไปดู comment ด้านบนนะครับ และหากตอบช้าไปต้องขออภัยด้วยครับ

      ตอบกลับ
      • ขอบคุณมาก ๆ ครับ
        ได้ผลอย่างไร จะรายงานผลเพื่อแชร์ท่านๆ ด้วยครับ ^_^

        ตอบกลับ
  6. ดังรูปภาพครับ เหลี่ยมที่ไว้สำหรับขัน มันโดนพยายามขันออกจนไม่เหลือเหลี่ยมแล้วครับ

    ตอบกลับ
  7. ขอรบกวนสอบถามครับ ในกรณีที่ไม่สามารถขันก๊อกน้ำ (ที่ต่อกับท่อน้ำดี ที่โผล่ออกมาจากผนังได้) เนื่องจากบริเวณเหลี่ยมที่ไว้ขันนั้น ถูก (พยายาม) ขันออก จนเหลี่ยมหายไปหมด
    จะสามารถแก้ไขอย่างไรได้บ้างครับ

    ตอบกลับ
  8. ได้ประโยชน์มากๆเลยครับ ขอขอบคุณเจ้าของกระทู้มากๆครับ

    ตอบกลับ
    • ขอบคุณครับ และดีใจมากด้วยที่บทความของผมมีประโยชน์สำหรับคนอื่นๆครับ

      ตอบกลับ
  9. *ในกรณี ก็อกน้ำฝังในผนง…..ถ้าเราใช้ สิลิโคลนมาปิดรอบๆเกลียวที่มีปัญหา รอจนสิลิโคลนแ้ห้ง ขันก็อกน้ำเข้าไปใหม่จะมีปัญหาไหม ครับ..

    ตอบกลับ
    • ทาซิลิโคน เอาไม่อยู่ครับ เนื่องจากในขณะที่เราทากาวนั้นจะเป็นลักษณะของการพอกกาวมากกว่า เมื่อไขก๊อกน้ำเข้าไปก็จะไปดัน หรือปาดเอาซิลิโคนที่พอกเอาไว้หลุดออก

      ตรงนี้ต้องพิจารณาถึงการขยายตัวของท่อน้ำที่ฝังกำแพงนั่นด้วยนะครับ เพราะเมื่อไขก๊อกน้ำเข้าไป ตัวเกลียวก็จะขยายออกเนื่องมาจากความแน่นของเกลียวก๊อกน้ำบวกกับเทปพันเกลียวครับ ซึ่งหมายความว่า กาวที่เราพอกเอาไว้นั้นไม่มีประโยชน์เมื่อท่อน้ำมันขยายตัวก็จะทำให้เกิดเป็นช่องว่างเล็กๆ ให้น้ำเล็ดลอดซึมออกมาได้อยู่ดีครับ

      ตอบกลับ
  10. ให้ความรู้มาก .. ชอบจังเลย ขอบคุณนะคะ

    ตอบกลับ
  11. รบกวนอีกนิดนะคะ
    คือว่าาเปิดน้ำและมันยังไหลแรงอยู่
    แต่อีกอันไหลน้อยกว่าเป็นไปได้ไหมคะว่ามันอาจจะรั่วอ่ะค่ะ

    ตอบกลับ
    • ถ้าการเปิดก๊อกน้ำ(ทีละก๊อก) ที่อยู่ตำแหน่งใกล้ๆ กัน(ซึ่งเดาว่าน่าจะเป็นท่อเส้นเดียวกันด้วย) แล้วพบว่าการไหลของน้ำเบา หรือแรงแตกต่างกันโดยเห็นได้ชัดแบบนี้แล้วล่ะก็ เป็นไปได้ครับที่จะมีการรั่วเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งถ้าพบเห็นความชื้นหรือแฉะปรากฏขึ้นที่กำแพงแบบเห็นได้ชัดแบบนี้ด้วย มีอาการรั่วแน่ๆแล้วครับ แต่ที่ผมสงสัยก็คือ ถ้ารั่วขนาดที่มองเห็นความแรงของน้ำได้ชัดเจนแบบนี้ คงไม่ใช่รั่วเล็กน้อยแน่เพราะถ้าแค่ปริแตก หรือซึมๆ มันจะมองเห็นความแตกต่างของแรงน้ำไม่น่าชัดเจนขนาดนี้ ควรจะต้องรีบตรวจสอบและแก้ไขครับ

      ความจริงแล้วกรณีที่ก๊อกบางตัว ไหนเบากว่าก๊อกอื่นๆ นั้นบางทีอาจจะเกิดจากการที่ช่างเค้าแก้ไขก๊อกในบางจุดแล้วเกิดมีเศษวัสดุร่วงหล่นติดค้างในท่อ เมื่อเปิดน้ำ เศษวัสดุเหล่านั้นก็เคลื่อนย้ายไปจุดใหม่ ซึ่งปลายทางก็คงเป็นก๊อกน้ำสักตัวหนึ่ง ทำให้อุดตันและน้ำไหลเบาได้นะครับ แต่สำหรับกรณีนี้ เนื่องจากบอกว่ามีร่องรอยความชื้นแฉะบนกำแพง จึงตัดเรื่องของเศษวัสดุทิ้งไป เหลือเพียงกรณีท่อน้ำมีปัญหาปริ หรือแตกไปแล้วครับ

      ขอเอาใจช่วยให้แก้ไขปัญหาได้ลุล่วงโดยไวนะครับ เพราะน้ำรั่ว หมายถึงค่าน้ำที่ต้องจ่ายโดยไม่ได้ใช้ครับ

      ตอบกลับ
  12. ขอถามหน่อยค่ะถ้าบริเวณผนังมีรอยน้ำซึมหลังจากเปลี่ยนก๊อกค่ะแสดงว่าท่อน้ำรั่วใช่ไหมคะ
    แลุะทำวิธีข้างบนค่าใช้จ่ายสูงไม๊คะ
    ขอบคุณล่วงหน้าคะ
    อ่อลืมไปที่บ้านใช้อิฐบล็อคก่อนะคะถ้าสกัดดังภาพจะมีผลอะไรหรือป่าว

    ตอบกลับ
    • ปัญหาเรื่องของก๊อกน้ำนั้น เนื่องจากไม่เห็นภาพนะครับ คงต้องใช้การคาดการณ์เป็นหลัก

      – ตัวอย่างข้อต่อ PVC ที่อยู่ในบทความนั้น จะเห็นได้ว่า ตัวข้อต่อ PVC จะโผล่พ้นกำแพงออกมาเล็กน้อยนะครับ มองเห็นร่องรอยการปริได้ชัดเจน อีกทั้งตอนไขก๊อกเข้าไป(ก่อนจะปริแตก)นั้น ผมเป็นคนทำเอง และได้ยินเสียง + ความรู้สึกที่ชัดเจนว่ามันปริแตกไปแล้วจึงต้องใช้วิธีสกัดอย่างที่เห็นในบทความ ส่วนที่คุณ kib บอกเอาไว้นั้น ผมยังคงไม่แน่ใจว่า ตัวข้อต่อ มันจมลงไปในกำแพง ไม่ได้โผล่พ้นกำแพงมาแบบนี้หรือไม่นะครับ เพราะคุณ kib บอกว่า มีร่องรอยน้ำซึม หลังจากเปลี่ยนก๊อกนั้น เป็นไปได้อีกกรณีนึงก็คือ พันเทปพันเกลียวน้อยเกินไป ทำให้น้ำซึมออกมาจากบริเวณเกลียวท่อได้ แล้วหากตัวข้อต่อจมลึกไปในกำแพง ก็จะทำให้เรามองเห็นว่ากำแพงมีร่องรอยน้ำซึมได้ครับ จะไม่เห็นร่องรอยการหยดชัดเจน เหมือนกรณีของผมที่ข้อต่อโผล่พ้นกำแพงมาเล็กน้อยแบบนี้ ข้อสังเกตนิดนึงก็คือ หากลองบิดก๊อกน้ำ (หมายถึงขันเข้าหรือถอดออกน่ะครับ หมุนขวา ขันเข้า หมุนซ้าย ขันออก) แล้วปรากฏว่า บิดได้โดยง่าย ก็เป็นไปได้เลยครับว่าจะพันเกลียวน้อยเกินไป เพราะถ้าพันเกลียวไว้พอดีๆ การขันเข้า หรือออก มันจะตรึงๆ มือเล็กน้อย คือฝืดๆ หน่อยน่ะครับ ดังนั้น ตรวจเช็คตรงนี้ก่อนดีกว่าครับ อย่าเพิ่งสรุปว่า ข้อต่อแตกไปแล้ว และต้องทุบกำแพง เดี๋ยวจะเสียเงินฟรีครับ

      – กำแพงเป็นกำแพงอิฐบล็อก นี่คือด้านในจะกลวงใช่ไหมครับ ผมไม่แน่ใจ เพราะไม่เห็นภาพ ที่ไม่แน่ใจก็คือว่า กำแพงแบบนี้ การฝังท่อในกำแพง ช่างไม่น่าที่จะวางไว้กลางบล็อคได้ แต่เดาว่า รอบๆ ท่อจะถูกปกปิดด้วยปูนทั้งหมด นั่นก็คือ ช่างจะวางอิฐบล็อคกลวงๆ ประกบไว้ด้านข้างของท่อทั้งสองด้าน แล้วบริเวณของท่อนั้น ใส่ปูนลงไปจนเต็ม ดังนั้น การกระเทาะปูนออกจนสามารถเปลี่ยนท่อนั้น ไม่น่าจะลำบากอะไรมากนักครับ แต่ควรจะค่อยๆ สกัดปูนออกด้วยความระมัดระวัง ไม่ใช่ใช้ค้อนปอนด์ขนาดใหญ่ ตอกโป๊กเสียเต็มกำลังแขน(แต่ความจริงก็ไม่น่าจะถือแล้วทำงานได้ถนัดนักหากใช้ค้อนที่ใหญ่มาก) แล้วถ้าลองตรวจสอบแล้วว่า ไม่ใช่กรณีพันเทปพันเกลียวน้อยเกินไปแล้วล่ะก็ ควรจะสกัดปูนออกเล็กน้อยก่อน เพื่อให้เห็นปากท่อ หรือข้อต่อ ชัดเจนมากขึ้น จนแน่ใจว่า มันปริแตกไปจริงๆ จึงค่อยขยายรอยแผลให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเปลี่ยนท่อ จะได้ไม่เสียเวลามากครับ

      – ค่าใช้จ่ายในการทำนั้น ต้องขอโทษด้วยครับ เพราะผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เวลามีอะไรในบ้านเสีย ผมมักจะซ่อมเอง ไม่ค่อยได้เรียกช่างสักเท่าไหร่ครับ ยิ่งงานนี้เป็นงานเล็กน้อยด้วยการเรียกช่างมาซ่อมแซมนั้น บางทีก็เรียกยากมากก็เพราะงานน้อยนี่แหละครับทำให้ช่างขี้เกียจวิ่งมาดูให้ ต้องขออภัยจริงๆครับ ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าราคาสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นผมนะ ผมว่า เกิน 500 นี่ก็คิดว่าเรียกค่าใช้จ่ายมากเกินไปจนล้นแล้วละครับ

      ตอบกลับ
  13. ถ้าถอดหัวก๊อกไม่ออก ทำอย่างไรดีคะ หมุนไม่ขยับเลย ใช้เครื่องมือช่วยก็ยังไม่ออก

    ตอบกลับ
    • ค่อนข้างตอบยากสักหน่อยสำหรับกรณีนี้ เนื่องจากไม่เห็นภาพครับ ผมเพิ่งจะเปลี่ยน comment ให้เพิ่มเติมรูปได้ ยังไงรบกวน post รูปให้อีกครั้งนะครับ จะได้แนะนำได้ดีขึ้น ที่ลำบากในการตอบนั้นผมจะลองยกตัวอย่างนะครับ

      1. ถ้าตัวก๊อกถูกฝังลงไปในกำแพง และมีปูนโบกปิดทับเอาไว้บางส่วน หากออกแรงด้วยเครื่องมือชิ้นใหญ่ อาจจะสร้างผลกระทบอื่นให้แก้ไขอีก

      2. ถ้าตัวก๊อกถูกขันเข้ากับท่อที่เป็นแป๊บน้ำชนิดเหล็ก และเกิดการผุพัง ขึ้นสนิมมากมายแล้ว ถึงแม้เอาก๊อกออกได้ ก็ไม่แน่ว่าต่อก๊อกใหม่แล้วจะมีปัญหาหรือไม่

      ถ้าตอบแบบกลางๆในตอนนี้ให้หาวิธีถอดออกได้ง่ายๆ นั้น ถ้าเป็นผมก็จะต้องเลือกใช้เครื่องมือชิ้นใหญ่ขึ้น ที่เรียกว่าประแจคอม้าครับ อย่างในภาพ เพราะด้วยความยาวของมัน เวลาเราจับด้ามประแจ บริเวณตรงปลายๆของประแจ เราจะออกแรงน้อยลงครับ

      ตอบกลับ

Leave a Comment

thirteen − 1 =

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.