การแก้ไขปัญหาถังแรงดันเก็บน้ำ ของเครื่องกรองน้ำ RO (RO = reverse osmosis) ในวันนี้ ถือเป็นความสะเพร่าของตัวเองแบบที่สุด จนเกิดเป็นปัญหาให้ต้องแก้ไข และเป็นบทความให้อ่านกันอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งที่มาที่ไป เกิดมาจากความผิดพลาดที่วางถังแรงดันสำหรับเก็บน้ำ จากเครื่องกรองน้ำ RO บนพื้นเรียบ ไม่ได้ถูกยกให้สูงจากพื้นแต่อย่างใดเลย เพราะเห็นว่าฐานพลาสติกที่ติดมาด้วยตอนซื้อถังมา ดูแล้วค่อนข้างไม่แข็งแรง ถังน้ำขยับเอียงไปมาได้ จึงคิดวางกับพื้นไปเลยจะดีกว่า ปรากฏว่า สายน้ำจากเครื่องกรองน้ำ RO (reverse osmosis system) ที่ต่อเข้าถัง มีน้ำรั่วซึมเล็กน้อย ตรงบริเวณวาลว์น้ำ และไหลย้อยตามถังลงไปที่ก้นถัง ทำให้บริเวณก้นถัง มีความเปียกชื้นอยู่เสมอ ซึ่งถังแรงดันที่เป็นเหล็ก กับน้ำและความชื้น ไม่ใช่ของคู่กันแน่ๆ
ไม่เกินความคาดหมาย ในที่สุด ถังแรงดันเก็บน้ำ RO ก็ขึ้นสนิมอย่างไม่ต้องสงสัย ที่รู้ไม่ใช่เพราะสังเกตเห็นความผิดปกติที่ตัวถัง เพราะจุดที่มีปัญหาอยู่ก้นถัง หากไม่พลิกขึ้นมาจะไม่เห็นแน่ๆ แต่เป็นเพราะระบบกรองน้ำ RO (reverse osmosis system) เติมน้ำเข้าไปในถังได้นิดเดียว ก็ตัดการทำงาน ตอนเปิดก๊อกน้ำ RO เพื่อใช้ดื่มกิน ก็มีน้ำไหลออกมานิดเดียว ผิดสังเกต ลองยกถังแรงดันเก็บน้ำ RO ก็พบว่า น้ำหนักของถังหนักมาก หนักผิดปกติ จึงต้องถอดออกมาตรวจสอบ และได้พบกับคราบสนิมเต็มก้นถัง อย่างที่เห็น
อาการนี้ซ่อมได้ไหม ซ่อมได้ครับ ทำไมไม่เปลี่ยนล่ะ เป็นสนิมแบบนี้ เดี๋ยวน้ำสกปรกนะ กินไม่ได้นะ คำตอบคือ ไม่เป็นปัญหาครับ น้ำยังคงใสสะอาดและดื่มกินได้ หลังจากการซ่อมแซมครั้งนี้แน่นอน ทั้งนี้ ก็เพราะว่า ถ้าเราตั้งถังขึ้นตามปกติ เราจะมองเห็นรอยเชื่อมอยู่ตรงกลางๆ ของถัง โดยรอบ และเป็นการแบ่งแยกถังออกเป็นสองส่วน ส่วนล่าง ใช้ในการเก็บลมเป็นถังแรงดัน และส่วนบนใช้ในการเก็บน้ำบริโภค ออกจากกัน ถังใบนี้ ผุในส่วนล่าง ซึ่งมีหน้าที่เก็บลมเพื่อสร้างแรงดันในถังเอาไว้ ถ้าเราแก้ไข ให้ลมไม่รั่วออกมาได้ ก็เท่ากับถังใบนี้ จะสามารถนำกลับมาใช้งานได้ตามปกติอีกครั้งหนึ่ง
ตามคติเดิมที่ยึดถือ ในเมื่อของมันเสียอยู่แล้ว ถ้าแก้ไขไม่ได้ ซ่อมไม่ได้ ก็ยังเป็นของเสียเช่นเดิม เราไม่ได้เสียอะไรไปมากกว่านั้น ไม่ได้ทำเสียหายจากการทุบทำลาย แต่ถ้าแก้ไขได้ เราก็ได้ของชิ้นนั้นกลับมาใช้ใหม่ ไม่สร้างขยะให้โลก และประหยัดเงินในกระเป๋าด้วย ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะไม่ลองแก้ไขซ่อมแซมดูนะครับ
มาพูดถึงสาเหตุที่น้ำไม่ไหลออกออกมาจากถัง หรือไหลออกมาได้น้อยมากๆ ทั้งที่ถังหนักมากๆ มีน้ำอยู่เต็มถังแรงดันสักนิดนึงก่อน สาเหตุก็เพราะไม่มีลมในถังแรงดันส่วนล่างเลย ถังใบนี้จึงไม่มีลม หรือมีแรงดันใดๆ เพื่อดันน้ำดื่มที่ผ่านการกรองแล้ว ออกมาจากถังแรงดันใบนี้นั่นเอง และสิ่งที่กั้นระหว่างส่วนบนและส่วนล่าง จะเรียกว่าไดอะแฟรม ซึ่งเป็นแผ่นยางหนาๆ เพื่อกั้นทั้งสองส่วนออกจากกัน เพราะตามปกติ อากาศจะละลายลงไปในน้ำได้ เมื่อมีแรงดันของอากาศสูงๆ ตัวอย่างก็เช่น น้ำอัดลมในขวด หรือกระป๋อง นั่นไง ถังแรงดันจึงต้องมีไดอะแฟรมมากั้นระหว่างน้ำกับอากาศออกจากกัน ซึ่งถ้าใครอยากรู้ อยากเห็นหน้าตา ผมคงไม่ผ่าให้ดู เสียดายถัง ไม่อยากจะซื้อใหม่ให้เสียเงิน แต่ถ้าใครอยากจะบริจาคเงินค่าถังให้ก็ไม่ขัด ถ้าอยากเห็นจริงๆ ลองค้นหาในอากู๋ หรือ duckduckgo.com search engine อีกตัวที่ไม่ล้วงลูก ไม่ติดตามการใช้งานของเรา ดูก็ได้ รับรองว่าได้เห็นภาพแน่ๆครับ
ตรงด้านล่างของถังเก็บน้ำ จะมีจุกเติมลมอยู่ด้วย ใช้สำหรับเติมลม และระบายลมออก ในจุดเดียวกันไม่ต้องกลัว ไม่มีกลิ่นแปลกๆ แน่นอน เพราะไม่ใช่ผายลม
วิธีระบายลมออกจากถังแรงดัน จะใช้วัสดุอะไรก็ได้ ที่ทิ่มลงไปในรูเล็กๆ นี้ได้ เพื่อกดตัววาล์วลูกศรเอาไว้ ให้ลมภายในได้ระบาย ปลดปล่อยออกมา หรือใครจะใช้อุปกรณ์ช่วยถอดวาล์วลูกศรออกมาเลยก็ได้ พอดีผมไม่มีใช้ จึงใช้วิธีกดวาล์วลูกศรเอา และสำหรับถังใบที่เห็นนี้ กดวาล์วลงไป ไม่มีลมออกมาเลยสักนิด เพราะข้างในเต็มไปด้วยน้ำ ส่วนลมถูกดันออกมาหมดแล้วก่อนหน้านี้ จากรูรั่วที่ไหนสักแห่ง ที่เป็นสนิมแน่นอน
เอียงถังลง เปิดวาล์วน้ำที่หัวถังให้สุด กดที่วาล์วลูกศร ให้ลมเข้าไปในถัง ไปแทนที่น้ำ หรือถ้าใครถอดวาล์วลูกศรได้ก็ถอดเลยนะครับ น้ำจะได้ระบายออกได้ไวๆ
เอาถังมารองน้ำเอาไว้ เสียดายน้ำ เอาไปรดน้ำต้นไม้ก็ยังดีกว่าปล่อยทิ้งลงท่อน้ำทิ้งไปเสียเฉยๆ ไม่ได้ประโยชน์
หาอุปกรณ์ใดๆ มาขูด เขี่ย เอาก้อนสนิม ออกไปก่อน ผมคว้าได้ไขควงเก่าๆ ถูกๆ ที่ปากไขควงใช้งานไม่ได้แล้ว (เดี๋ยวสกรูพัง) มาขูดเอาสะเก็ดสนิมชิ้นใหญ่ๆ ออกบางส่วนก่อน ค่อยลงมือขัดสนิมบางๆ ด้วยกระดาษทรายอีกครั้ง
ส่วนที่เป็นสนิม สะเก็ดชิ้นใหญ่ๆ เราต้องเอาออกให้หมด เพราะเมื่อเราทาสี หรือพ่นสีทับลงไปแล้ว หากสะเก็ดเหล่านั้นหลุดออกมาในภายหลัง ก็จะกลายเป็นแผล เป็นรู ให้อากาศเข้าไปสัมผัสกับเหล็กได้อีก ในที่สุดก็จะเป็นสนิมเหมือนเดิม ถ้าเราใส่ใจในตอนทำ ก็ลดภาระที่ต้องตามไปแก้ปัญหาในภายหลัง ถ้าผมไม่วางถังแรงดันเก็บน้ำ RO ไว้บนพื้น ก็ไม่ต้องตามมาแก้ปัญหาสนิม เช่นนี้แล้ว จะโทษใครได้ล่ะนะ
เอากระดาษทราย สำหรับขัดเหล็ก สีดำๆ มาขัดสนิมออกอีกครั้ง ผมเลือกใช้เบอร์อะไรจำไม่ได้ น่าจะประมาณ 200
ซูมใกล้เข้าไปอีกสักนิด มีใครเห็นแผล เห็นร่องรอยของรูรั่วแล้วบ้าง?
ภาพนี้ชัดเลยครับ เป็นรูรั่วชัดๆ มองเห็นเต็มสองตา ไม่ต้องมีแว่นขยาย
ตอนนี้ยังมองเห็นรูรั่วที่ถังแรงดัน เพียงแค่รูเดียว แต่พื้นผิวยังไม่สะอาดพอ
แดดส่องมาถึง ยิ่งเห็นชัดเจน พื้นผิวของถังที่เราขัด ยังไม่สะอาดพอ มีฝุ่นมีผงมากมายแบบนี้ ยังใช้ไม่ได้ เดี๋ยวจะขัดต่ออีกสักหน่อย ใช้แรงอีกไม่มากหรอก
บริเวณรอบๆ รอยแผลก็สำคัญ ต้องขัดเอาสีที่เคลือบอยู่ออกก่อน ขัดให้พื้นผิวเหล็กเงาวาวแบบนี้เลย เพื่อจะให้กาวอีพ็อกซี่ ที่เราใช้ในงานนี้ ติดได้แน่นที่สุด เราก็ต้องเตรียมพื้นผิววัสดุให้ดีที่สุดด้วยเช่นกัน
เมื่อขัดให้สะอาดดีแล้ว ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดพื้นผิวให้สะอาด แล้วตากลมให้แห้งสนิท สังเกตอีกทีพบว่า จากรูรั่วเพียงรูเดียวเมื่อสักครู่นี้ กลายเป็นสองรูแล้ว ในตอนนี้ แต่ไม่เป็นปัญหาสำหรับเรา เพราะรูขนาดเล็กๆ แบบนี้ เราซ่อมได้อยู่แล้ว
พระเอกขี่ม้าขาว ของเราในวันนี้ เป็นกาวอีพ็อกซี่ ใครจะใช้แบบหลอด ที่ต้องผสมสองส่วนอย่างละเท่าๆ กันแบบนี้ก็ได้ หรือจะใช้แบบดินน้ำมันปั้น ก็แล้วแต่ความชอบ ความถนัดของแต่ละคน ซึ่งมันก็ใช้งานได้เหมือนกัน แต่สำหรับผมในกรณีนี้ อีพ็อกซี่สองชนิดผสมกัน แบบที่บีบจากหลอดสบายดี เพราะมีความข้นเหนียว น้อยกว่า แบบดินน้ำมันปั้นด้วย ทำให้ละเลงบนพื้นผิวกว้างๆ แบบนี้ได้ถนัดมือกว่า แต่สิ่งสำคัญที่สุดก่อนจะนำไปใช้งานคือ คนนานๆ และทั่วๆหน่อย ให้วัสดุสองชนิด ผสมเข้ากันได้อย่างดีที่สุด จึงจะนำไปใช้งานได้ ไม่เช่นนั้น กาวอีพ็อกซี่แพงและดีแค่ไหน ก็แก้ปัญหาไม่ได้แน่ๆ
จุดสำคัญที่สุดที่เราต้องพิจารณา และลงมือทาอีพ็อกซี่ก่อน คือรอยรั่วทั้งหมดที่เราสังเกตเห็น ซึ่งเป็นบริเวณปุ่มนูนของถัง ดังนั้น เราจะทาให้ครบทั้ง 4 ปุ่มนูนๆ นั้นเลย เพราะเป็นบริเวณที่ถังใบนี้สัมผัสกับพื้นมากที่สุด
ผสมอีพ็อกซี่เพิ่มเติม แล้วทาทับลงไปอีกครั้ง ผมใช้นิ้วมือนี่แหละละเลงให้ทั่ว ไม่ต่างอะไรกับการใช้อีพ็อกซี่แบบดินน้ำมันปั้นได้เลย อาจจะติดนิ้วหน่อย แต่ถ้ายังไม่แห้ง เรายังล้างออกได้ด้วยน้ำเปล่า อ้อ แล้วอย่าไปล้างมือในอ่างล้างหน้า หรืออ่างล้างจานล่ะ เดี๋ยวเศษอีพ็อกซี่ ชิ้นใหญ่ๆ เกิดไปแข็งตัวในท่อน้ำทิ้ง โซดาไฟ ก็ใช้ไม่ได้ กรดก็เอาไม่อยู่นะจะบอกให้ ส่วนพื้นผิวอีพ็อกซี่ที่ทาไปไม่เรียบ เดี๋ยวค่อยแต่งผิวทีหลังได้
บริเวณปุ่มที่พบรูรั่วของลม จะทาอีพ็อกซี่ให้หนาสักนิด เพราะถ้าน้อย หรือบางเกินไป เมื่อมีการเลื่อน มีการถู การขูดเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็อาจจะทำให้อีพ็อกซี่ที่ทาไว้ หลุดออกมาได้ ส่วนการตบแต่งพื้นผิว จะใช้น้ำเปล่ามาช่วย เราเอานิ้วไปจุ่มน้ำเล็กน้อย แล้วมาถู มาแต่งพื้นผิว ในแต่ละจุดที่ต้องการได้ กาวอีพ็อกซี่จะไม่ติดนิ้ว แต่อย่าให้น้ำมากเกินไป อีพ็อกซี่จะอุ้มน้ำเอาไว้มาก แห้งช้า และการยึดเกาะไม่ดี แค่แตะๆ ให้แต่งผิวให้เรียบสวยได้ก็พอแล้ว
ตอนเริ่มงานคิดว่าจะใช้กาวอีพ็อกซี่อุดเพียงรูรั่วของถัง จุดที่ลมเล็ดลอดออกมาได้ ส่วนที่เหลือก็ใช้สีสเปรย์พ่นเอา แต่ไหนๆ ก็ละเลงแล้ว ทาให้ทั่วไปเลยแล้วกัน การพ่นสี คือการพ่นทับเหล็ก เพื่อไม่ให้ออกซิเจน เข้าไปทำปฏิกริยากับเหล็กได้ ก็จะไม่เกิดสนิมบนพื้นผิว หรือลึกลงไปกว่านั้น ซึ่งการทาอีพ็อกซี่ให้ทั่ว ก็ให้ผลแบบเดียวกัน อากาศเข้าไปทำปฏิกริยากับเหล็กไม่ได้เช่นกัน แถมการทากาวอีพ็อกซี่ จะมีพื้นผิวที่หนาและทนทานกว่าการพ่นสีด้วยซ้ำไป จึงใช้อีพ็อกซี่ละเลงทาให้ทั่วแบบที่เห็น
มาถึงตอนนี้ เราแก้ปัญหาลมรั่วออกทางรูสนิมเรียบร้อยแล้ว กลับมาที่จุกเติมลมบ้าง ไม่แน่ใจว่า วาล์วลูกศร ใส่ไว้แน่นดีหรือไม่ เสื่อมหรือไม่ อยากจะทดสอบ แต่ไม่มีอุปกรณ์ ต้องหาทางแก้ไข
มีตะปูตอกไม้เก่าๆอยู่ จับเอามาประยุกต์ แปลงเป็นอุปกรณ์ถอดวาล์วลูกศร
ตัดออกมา แล้วใช้ใบเลื่อยตัดเหล็ก ผ่าออกมาเป็นสองซีกแบบนี้ แต่งความกว้างให้พอดีๆ สวมลงไปบนวาล์วลูกศรได้
แม้ไม่สวย แต่ไม่ต้องซื้อ ไม่เสียเงิน และใช้งานได้ ก็จบปัญหาได้
สวมใส่ลงไปในจุกเติมลมได้พอดี กดวาล์วลูกศรได้ ถอดวาล์วลูกศรได้ และใส่วาล์วลูกศรก็ได้เช่นกัน
ไหนๆ ก็ยกถังออกมาแล้ว ก็ตรวจสอบวาล์วลูกศรสักหน่อย ถอดออกมาตรวจดู ถ้าไม่มีปัญหา ใส่กลับเข้าไปใหม่ แล้วขันให้แน่น
ถึงขั้นตอนการเติมลมเข้าไปจริงๆ ก็ใช้สูบจักรยานนี่แหละ ใช้งานได้ดีพอแล้ว
ต่อสูบลม เข้ากับจุกเติมลม ของถังแรงดันเก็บน้ำ RO ให้พร้อม แล้วสูบลมเข้าไป สูบตัวนี้มีเกจวัดแรงดันลมอยู่ด้วย จึงทำงานง่ายหน่อย เติมลมเข้าถังให้มากกว่า 6 PSI แต่ต้องไม่เกิน 10 PSI แบบคร่าวๆ
จากนั้นใช้เกจวัดแรงดันลมยาง มาวัดแรงดันลมภายในถังซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อความแน่ใจ แต่เกจแบบนี้ มีความสะเอียดของสเกล ที่แรงดันสูงๆ เพราะใช้กับล้อรถยนต์ สเกลต่ำๆ จึงอ่านค่ายากนิดนึง
ตอนนี้เลือกที่จะเติมลมประมาณ 8 PSI เนื่องจากไม่มั่นใจความถูกต้องของสเกลนัก จะได้ไม่เกิดความเสียหายกับถังแรงดันเก็บน้ำกรอง RO ใบนี้
จากนั้นก็ทิ้งถังแรงดันใบนี้ เอาไว้ข้ามวัน แล้วค่อยกลับมาทดสอบแรงดันลมภายในถังอีกครั้ง ว่ายังเท่าเดิมหรือไม่ ถ้าไม่เท่าเดิม แสดงว่า เราทำงานไม่สำเร็จ อาจจะทากาวอีพ็อกซี่ไม่ทั่ว หรือวาล์วลูกศรรั่ว ก็เป็นไปได้ ถ้าไม่สำเร็จจริงๆ ต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง แต่สำหรับงานนี้ของผม จบงานด้วยดี แรงดันภายในถังไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ลดลง และใช้งานได้ต่อเนื่องมากว่า 4 เดือนแล้ว ก่อนจะทำคลอดบทความนี้ออกมาให้อ่านกัน ซึ่งในปัจจุบัน ผมเลือกใช้ท่อ PVC ขนาด 1 นิ้ว สั้นๆ 4 ท่อน มาหนุนบริเวณปุ่มของถังทั้ง 4 ปุ่ม เพื่อให้สูงขึ้นมาจากพื้น เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก เป็นอันจบงานช่างในบ้านไปอีก 1 งาน ไม่ต้องเสียเงินซื้อถังแรงดันเก็บน้ำ RO ใบใหม่ ประหยัดเงินได้อีกประมาณพันบาท สบายไป
งานซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าซ่อมสวิทช์แรงดันปั๊มน้ำที่เสีย ซื้อเปลี่ยนก็ได้ แต่ซ่อมเองท้าทายกว่า
เรื่องราวงานช่างวันนี้ เป็นงานซ่อมที่นำมาบอกเล่าให้ฟัง มากกว่าจะเป็นการแนะนำ และบอกเล่าขั้นตอนในการทำเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งงานนี้ก็ไม่ใช่งานซ่อมในปัจจุบัน แต่มันเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีมาแล้ว หลังจากไปค้นหาภาพเก่าๆ ในคลังภาพ ...
รีวิวพัดลมกึ่งตั้งโต๊ะ 18 นิ้ว มิตซูบิชิ
พัดลมกึ่งตั้งโต๊ะ หรือ ที่ทางมิตซูบิชิ เรียก/เขียนบนกล่องว่า TATAMI FAN (ใครไม่รู้จักเสื่อ Tatami ของญี่ปุ่นบ้างเนี่ย) จะเป็นพัดลมชนิดตั้งโต๊ะ ...
อุปกรณ์ห้องน้ำ เลือกใช้ สกรูสแตนเลสเถอะ
อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องน้ำ เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญในการเลือกซื้อ เพราะห้องน้ำ มีทั้งน้ำ ทั้งความชื้นที่อบอวลอยู่ภายในห้องน้ำ ยิ่งบ้านไหน นิยมปิดประตูห้องน้ำไว้ตลอดเวลา หน้าต่างในห้องน้ำไม่ค่อยอยากเปิด กลัวนกมาทำลังแล้วล่ะก็ จะมีความชื้นสะสมอยู่ขั้นสุดๆ ...
ล้างหัวฝักบัวอาบน้ำ ทำความสะอาดได้ ล้างได้หมดจด
วันนี้มาดูวิธีล้างหัวฝักบัวอาบน้ำกันดีกว่า เพราะเชื่อแน่ว่าปัญหา หัวฝักบัวสกปรก เลอะเทอะจากคราบหินปูนสะสม หรือสิ่งสกปรกไปเกาะ ไปหลบอยู่ภายในหัวฝักบัว ทำให้สายน้ำที่ควรจะไหลอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และไหลออกมาจากรูทุกๆ รูของหัวฝักบัวเท่าๆ ...
สวิทช์ลูกลอยไฟฟ้า เสีย ไม่ทำงาน ทำงานผิดปกติ
ที่บ้านสวน ใช้น้ำบาดาล โดยใช้ปั๊มน้ำบาดาลสูบขึ้นมาเก็บไว้ในโอ่ง แล้วค่อยดูดผ่านปั๊มน้ำอัตโนมัติไปใช้งานภายในบ้านอีกทีนึง ซึ่งการควบคุมระดับน้ำในโอ่ง อาศัยสวิทช์ลูกลอย หรือลูกลอยไฟฟ้า ในการควบคุม ซึ่งลูกลอยไฟฟ้าแบบนี้ เป็นชนิดมีตุ้มน้ำหนักสองตุ้ม ...
สายยางรดน้ำหรือล้างรถ ต่อกับก๊อกน้ำหรือหัวฉีด สะดวกด้วยข้อต่อสวมเร็ว
เดี๋ยวนี้สายยางรดน้ำต้นไม้ มีให้เลือกใช้งานกันหลายชนิด หลายขนาด อีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อสายยางเข้ากับก๊อกน้ำ หรืออุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ก็มีให้เลือกใช้งานมากมาย โดยเฉพาะหัวฉีดน้ำ ไม่ว่าจะเป็นหัวฉีดน้ำที่มีหัวย่อยๆ อีกหลายแบบอยู่ในตัวเดียวกัน จะฉีดน้ำให้เป็นเส้น ...
ตะแกรงท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำ น้ำไหลระบายได้ช้า
เรื่องวุ่นวาย และน่าปวดหัวเรื่องหนึ่งในบ้าน มักจะเป็นเรื่องที่วนเวียนอยู่กับห้องน้ำ และเรื่องของการระบายน้ำภายในห้องน้ำก็มักจะเป็นห้วข้อหลักๆ เสียด้วย อย่างในวันนี้เป็นเรื่องของตะแกรงท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำแบบมีถ้วยดักกลิ่นด้วย แต่เมื่อมีสิ่งสกปรกลงไปกองอยู่ภายในมากเข้าๆ ก็ทำให้น้ำทิ้งไหลได้ช้าลงมาก บางคนก็รำคาณถึงกับถอดเอาตะแกรงท่อน้ำทิ้งนี้ทิ้งไปเลย ซึ่งการถอดตะแกรงท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำทิ้งไป ...
ถังแรงดันเก็บน้ำ RO ผุ รั่วซึม แก้ไขได้
การแก้ไขปัญหาถังแรงดันเก็บน้ำ ของเครื่องกรองน้ำ RO (RO = reverse osmosis) ในวันนี้ ถือเป็นความสะเพร่าของตัวเองแบบที่สุด จนเกิดเป็นปัญหาให้ต้องแก้ไข ...
หัวแปลงปลั๊กไฟ ปลั๊กแปลงขา ดีๆ ก็มีขาย ต้องเลือกกันหน่อย ภาค3
บทความเรื่องหัวแปลงปลั๊กไฟ ก็ผ่านไปแล้วถึงสองตอน แม้ว่าเราจะไม่ได้เดินทางออกไปไหน ไม่ได้ไปต่างประเทศ แต่หลายๆ คนในเมืองไทยนี้ ก็ยังต้องใช้หัวแปลงปลั๊กไฟ ต้องซื้อมาติดบ้านไว้ใช้งานกัน บางชิ้นก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนปลั๊กสามตา เป็นการขยายช่องเสียบปลั๊ก ...
ปลั๊กสามตา คืออะไร แบบไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร
คิดว่าจะเขียนถึงเรื่องนี้นานแล้ว แต่ก็ไม่ได้เขียนสักที จนลืมไปเลย เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเขียนรีวิวเรื่องของปลั๊กไฟ ก็เลยนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้ จุดเริ่มต้นที่ต้องการจะเขียนถึงปลั๊กสามตา มาจากการค้นหาคำว่าอะไรสักอย่างที่เกี่ยวเรื่องของปลั๊กนี่แหละ แล้วก็ไม่พบคำตอบที่ต้องการ กลับได้เจอกับคำนิยาม คำตอบ ...
รีวิว ปั๊มน้ำอัตโนมัติ clinton model PS-150(B)
เรื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติอีกแล้ว เนื่องจากปั๊มน้ำตัวเดิม มีปัญหาค่อนข้างมาก ในขณะที่การใช้งานจริงแบบต่อเนื่องเป็นไปไม่ได้ ความจำเป็นทำให้ต้องมองหาปั๊มน้ำตัวใหม่มาใช้งาน แต่ก็ยังเป็นปั๊มน้ำแบบเปลือย ไม่มีฝาครอบเหมือนเดิม ด้วยราคาค่าตัวที่ต่ำ และแรงดันน้ำที่สูง ทำให้รู้สึกชอบปั๊มน้ำแบบนี้เสียแล้ว ...
รีวิวปลั๊กพ่วง รางปลั๊กไฟยี่ห้อ Sonic
หลังจากที่ปลั๊กพ่วงที่วางขายทั่วไป ต้องมี มอก. ทุกชิ้น ในช่วงปรับเปลี่ยนตอนแรกๆ ราคาปลั๊กพ่วงแบบทั่วๆ ไป พุ่งขึ้นไปถึง 300 กว่าบาท ...
วิธีใช้ไม้วัดระยะลึก หรือแท่งวัดความลึกของสว่านไฟฟ้า
วันนี้ขอพูดถึงอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่มักจะแถมมาพร้อมๆ กับสว่านไฟฟ้าเสมอๆ แต่ว่าเรามักจะไม่ค่อยได้นำมาใช้งานกัน นั่นก็คือ ไม้วัดระยะความลึก หรือก้านวัดระยะ หรือแท่งวัดระยะ จะเรียกยังไงก็ตาม บางคนก็ไม่รู้ว่าจะนำมาใช้งานยังไง หรือบางคนก็เลือกที่จะไม่ใช้ ...
วิธีขูดร่องยาแนวเก่า ด้วยใบเลื่อยโลหะ
การปูกระเบื้องโดยทั่วไป ไม่ว่าพื้นห้องน้ำ พื้นครัว หรือพื้นบ้านส่วนอื่นๆก็ตาม หลังจากที่ช่างได้ปูกระเบื้อง และทิ้งไว้จนแห้งแล้ว จะต้องลงยาแนวด้วย ยาแนวในศัพท์ทางช่าง จะหมายถึงการอุดช่องว่างระหว่างแผ่นกระเบื้องด้วยผงยาแนว หรือปูนยาแนว ...