บัลลาสต์แกนเหล็กเดิมๆ เมื่อใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน จะมีความเสื่อมของอุปกรณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมาจะแสดงออกด้วยเสียงครางดังๆ รบกวนตลอดเวลา และเคยเขียนบทความไปแล้วเรื่องโคมไฟฟลูออเรสเซนต์มีเสียงดัง และวิธีการแก้ไข มาวันนี้ เลยอยากจะชักชวน ไหนๆ ก็ต้องเปลี่ยนบัลลาสต์กันแล้ว ลองพิจารณาเปลี่ยน เป็นบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์กันดีกว่า แถมมีข้อดีมากมายทีเดียว ใช้เปลี่ยนกับ โคมไฟ หลอดกลม โดนัท หรือหลอดผอมจอมประหยัด ก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าเป็นรางหลอดไฟนีออนสำเร็จรูป เดี๋ยวนี้สังเกตได้ว่ารางจะเล็ก และบางมาก ซึ่งไม่ต้องใช้สตาร์ทเตอร์เลย นั่นก็เป็นรางหลอดไฟสำเร็จรูปในระบบบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์เช่นกัน
ถ้าเราเคยใช้ ไม่สิ ต้องเคยใช้เลยล่ะ แต่ละบ้าน ต้องมีหลอดตะเกียบ หลอดประหยัดไฟ ที่เป็นขั้วเกลียว E27 ไว้ใช้งานกันแน่ๆ ซึ่งหลอดไฟเหล่านี้เป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ ที่ไม่ต้องพึ่งพาสตาร์ทเตอร์ เพราะชิ้นส่วนที่ถูกซ่อนไว้ภายในบริเวณขั้วหลอด จะมีแผงวงจรอิเล็คทรอนิคส์อยู่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์นี่แหละ และเราจะสังเกตได้ว่า หลอดไฟ แทบจะติดในทันทีที่เราเปิดสวิทช์ไฟด้วยนะ ไม่เหมือนกับโคมไฟชุด ที่มีสตาร์ทเตอร์ ต้องรอเวลาสักหน่อย
สมัยก่อนช่วงที่หลอดประหยัดไฟ ยังเป็นหลอดตะเกียบอยู่ ช่วงแรกๆ ที่วางขายหลอดตะเกียบเหล่านั้น จะมีสองส่วน ส่วนแรกเป็นหลอดไฟ ส่วนที่สองเป็นบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์ เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งเสีย ก็เปลี่ยนเฉพาะส่วนได้เลย แต่อย่างไรไม่ทราบ บริษัทต่างๆ จึงผลิตหลอดประหยัดไฟออกมาในแนวทางเดียวกัน คือเปลี่ยนไปทั้งหลอดไฟเลย ทั้งตัวหลอดและชุดควบคุมด้วย ในความรู้สึกลึกๆ แล้ว แนวทางนี้เป็นการสร้างขยะโดยไม่จำเป็นมากกว่า แต่ก็ไม่เข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงเหมือนกัน
วกไปไกล กลับมาเรื่องบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์กันอีกครั้ง ข้อดีที่เห็นและเข้าใจกันง่ายๆ คือ เรื่องของความร้อนที่ออกมาจากตัวบัลลาสต์ เมื่อเทียบกับบัลลาสต์แกนเหล็ก หรือขดลวดแบบเดิมๆ (บางคนก็เรียกว่าบัลลาสต์แกนเหล็ก และบางคนก็เรียกว่าบัลลาสต์ขดลวด ซึ่งชื่อไหนก็ถูกต้อง เพราะบัลลาสต์ชนิดนี้ ทำขึ้นมาจาก แกนเหล็กที่พันด้วยขดลวดทองแดงคล้ายกับหม้อแปลงไฟฟ้า) น้อยกว่ากันมากๆ เมื่อมีความร้อนน้อย ความสูญเสียในเรื่องของพลังงานก็น้อยลงไปด้วย ความร้อนเกิดขึ้นน้อย ความเสื่อมของอุปกรณ์ก็ช้าลง ฉนวนสายไฟในโคมไฟไม่แข็งกรอบ ถ้าห้องนั้นๆมีโคมไฟหลายดวง ก็ช่วยประหยัดค่าแอร์ได้ เพราะความร้อนโดยรวมน้อยลง อีกอย่างนึงคือเรื่องของการเปิดปิดสวิทช์ไฟ ที่หลอดแทบจะติดในทันทีที่เปิดสวิทช์ไฟ หลอดจะไม่มีการกระพริบ ทำให้อายุการใช้งานหลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอดกลม หลอดผอม ยาวนานขึ้นด้วย ส่วนเรื่องตัวประกอบกำลัง หรือเพาเวอร์แฟคเตอร์ ไม่พูดถึงแล้วกันครับ เอาเป็นว่า มันดีกว่าบัลลาสต์แบบแกนเหล็ก หรือขดลวดแน่นอน ประหยัดไฟกว่าแน่ๆ
ดังนั้น ถ้าโคมไฟบ้านใคร พบปัญหาโคมไฟมีเสียงดัง และต้องเปลี่ยนบัลลาสต์แล้วล่ะก็ ขอให้มองหาบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์มาใช้งานกันนะ อย่าพยายามหาซื้อ หรือเลือกใช้บัลลาสต์แบบแกนเหล็กเลยนะครับ ข้อดีเยอะขนาดนี้ เปลี่ยนเถอะนะ
วันนี้จะมาบอกวิธีการเปลี่ยนบัลลาสต์ที่ง่ายสุดๆ เปลี่ยนเองก็ได้ ไม่ต้องถอดโคมไฟลงมาทั้งชุด ไม่ยาก ไม่ลำบาก นะครับ ซึ่งในบ่ทความนี้ ผมเลือกใช้บัลลาสต์ของฟิลิปส์ Philips สาเหตุหลักก็คือ เล็ก และยาว ซึ่งความห่างของรูยึดตัวบัลลาสต์ จะใกล้เคียงกับบัลลาสต์แบบแกนเหล็กที่สุดแล้ว ซึ่งอีกหลายยี่ห้อ จะทำเป็นทรงเหลี่ยมๆ สั้นๆ ทำให้การเปลี่ยนแบบไม่ถอดโคมไฟลงมา ทำไม่สะดวกครับ
ก่อนอื่น ปิดเบรคเกอร์ก่อนเลย ผมเลือกที่จะปิดลูกย่อย ไม่ปิดตัวหลักครับ แต่ก็ตะโกนบอกคนในบ้านแล้วว่า ซ่อมไฟ ห้ามเปิดเบรคเกอร์เด็ดขาด ซึ่งในบ้านผมขณะทำไฟมีผมคนเดียว ดังนั้น ไม่มีใครมาเปิดแน่นอน เชื่อได้เลย (ความจริง ไม่ดีนะครับ เรื่องของการซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ควรมีคนอยู่ในบ้านด้วย ถ้ามีอะไรผิดพลาดจะได้มีคนช่วย ซึ่งในระบบโรงงานสมัยก่อน จะมีข้อบังคับเลยว่า ถ้าไปทำไฟ ต้องไปอย่างน้อยสองคน ถ้าเกิดปัญหา อีกคนจะได้ช่วยทัน แต่เดี๋ยวนี้ ไปเดินห้าง ยังเห็นช่างไฟนั่งต่อสายไฟ ทำไฟอยู่คนเดียวอยู่เลย (ไม่ใช่แค่เปลี่ยนหลอดไฟ) คงคิดว่า ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น คนที่ไปเดินห้างน่าจะช่วยเหลือได้ทันกระมัง)
โคมไฟดวงนี้แหละ ที่จะเปลี่ยนบัลลาสต์แกนเหล็ก บัลลาสต์ขดลวด มาเป็นบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์ ไม่ใช่เพราะบัลลาสต์เสีย หรือเสียงดัง แต่เพราะต้องการคุณสมบัติ ร้อนน้อย และเปิดติดทันทีทันใด ถนอมหลอดไฟ ไม่มีสตาร์ทเตอร์ด้วย เวลามีปัญหาไม่ต้องเดามาก ไม่หลอด ก็บัลลาสต์นี่แหละ ซึ่งโอกาสที่บัลลาสต์เสียก็น้อยมากๆ ดังนั้น รู้ใช่ไหมครับ ว่าอะไรที่จะเสีย และต้องเปลี่ยนในครั้งต่อไป
เห็นไหมครับ ความร้อนที่มาจากตัวบัลลาสต์ขดลวด มีมากขนาดไหน เต๋าต่อสายเปลี่ยนสีไปแล้ว สายไฟก็เปลี่ยนสีเช่นกัน แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ ฉนวนสายไฟอาจจะเริ่มแข็ง หรืออาจจะกรอบในไม่ใช้ ซึ่งความร้อนจากตัวหลอดไฟขณะทำงานก็มีเหมือนกัน แต่ก็ยังน้อยกว่าบัลลาสต์แกนเหล็ก
ทำงานไฟฟ้าต้องไม่ประมาทครับ พยายามฝึกให้เป็นนิสัย ใช้ไขควงทดสอบไฟทุกครั้ง ก่อนการทำงาน ตราบใดที่ยังมีโอกาสได้ใช้ ช่างคนไหน ชอบทำงานแบบ hot line ไม่ปิดระบบไฟ ก็ต้องระวังให้มากเข้าไว้ บางครั้งโชคอาจจะไม่เข้าข้าง
เนมเพลต ของตัวผลิตภัณฑ์ ระบุว่า ใช้งานได้ กับหลอดไฟ 36W หรือ 18W หลอดเดียว ไม่ต่อพ่วงนะ ส่วนค่า Power factor ต่ำไปนิด 0.6 เอง แต่ยี่ห้อนี้ก็มีรุ่น Power factor สูงๆ ถึง 0.95 ขายแล้วเหมือนกัน ราคาจะสูงกว่าบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์ตัวนี้หน่อยนึง ผมนี่ซื้อมาตุนไว้หลายตัว ต้องใช้ของเก่าให้หมดก่อนครับ
วิธีการต่อ ระบุไว้บนเนมเพลตหมดแล้วนะครับ ด้านนี้ต่อกับหลอดไฟ
ด้านนี้ต่อกับสายไฟเข้า เลข 5 ต่อกับสายนิวตรอน หรือสายที่ไม่มีไฟ และเลข 6 ต่อกับสาย line เส้นที่ไม่ไฟ พยายามต่อให้ถูกนะ
เทียบความยาวของรูยึดบัลลาสต์ก่อนลงมือเปลี่ยน เพื่อความแน่ใจ จะได้ไม่ต้องถอดเกื้อ เพราะถ้ามองหาตำแหน่งยึดสกรูไม่ได้ ก็ต้องถอดลงมาทั้งโคมไฟ มาทำข้างล่าง แล้วยกขึ้นไปติดตั้งใหม่ครับ
รูยึดสกรู อยู่ในระยะห่างที่พอๆ กันนะครับ ส่วนขนาด กับน้ำหนัก ไม่ต้องพูดถึงเลย กินขาด
ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการถอดชิ้นส่วนโคมไฟ ถ้าใครไม่เชี่ยวชาญ ไม่ค่อยได้ทำงานไฟฟ้า กลัวไฟฟ้า ขอแนะนำให้ปิดเมนเบรคเกอร์เลยครับ ปลอดภัยที่สุด แต่ถ้าห้องมืด เตรียมไฟฉายไว้ด้วยนะ
ภาพโคมไฟ โดยรวมก่อนจะทำการถอดชิ้นส่วน ต่างๆ ออกมานะครับ
มาดูขั้นตอนการถอดไปตามลำดับเลยดีกว่า
ปลดหลอดไฟออกก่อนเลย เพื่อป้องกันการหลุด หรือหล่นขณะทำงาน
จากนั้นก็ปลดตัวสตาร์ทเตอร์ออกได้เลย เพราะในวงจรบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์ที่เราจะใช้นั้น ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสตาร์ทเตอร์แล้ว
สังเกตสายดีๆ สายไฟต่อกับจุดไหนบ้าง ปลดออกให้หมด เราไม่ใช้แล้ว
ปลดสายไฟทั้งหมดออกจากบัลลาสต์ด้วยนะ ใช้ไขควงทดสอบไฟ ปลายไขควงจะพอดีกับขนาดรู และตัวสกรูของเต๋าต่อสาย
รอยสกรูที่ขันกดลงไปบนสายไฟ สร้างรอยยุบเอาไว้ที่สายทองแดงด้วย เดี๋ยวจะตัดทิ้ง แล้วปอกสายไฟใหม่
สายไฟเข้าโคมไฟ บ้านผมนี้ยังใช้สายไฟมาตรฐานเก่าอยู่ สาย Line เป็นสีดำ และสาย Neutral เป็นสีเทา ส่วนมาตรฐานใหม่ สาย Line เป็นสีน้ำตาล สาย Neutral เป็นสีฟ้า แต่ในภาพ สายนิวตรอน เริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเสียแล้ว จากความร้อนของบัลลาสต์
วิธีการทดสอบไฟอีกวิธีนึง โดยใช้ร่างกาย ที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนเอาไว้ ให้ใช้หลังมือ และใช้บริเวณนิ้วมือแตะ แต่ไม่ใช่เล็บ เพราะเล็บมีความต้านทานสูงกว่าผิวหนัง
ตามปกติเวลาเจอไฟวิ่งผ่าน ร่างกายเราจะกำมืออัตโนมัติ ก็จะกลายเป็นหลุดออกจากสายไฟ ส่วนใครที่จับโดยใช้ฝ่ามือ ถ้าสายมีไฟก็มีโอกาสที่ร่างกายเราจะตอบสนองด้วยการกำสายไฟไว้ ถ้าโชคไม่เข้าข้าง ไม่กระตุกมือ ก็จะกำค้าง และถูกดูดค้างแบบนั้นนะครับ ดังนั้น เมื่อใช้ไขควงแล้ว ผมจะใช้หลังมืออีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจ เผื่อหลอดไฟของไขควงขาด ยมบาล จะได้เห็นใจเราบ้าง ทดสอบซ้ำๆ ซะหลายขั้นตอนแบบนี้ ปล่อยๆ มันไปเถอะ
เอาล่ะ ปลดสายที่เกี่ยวเนื่องกับตัวสตาร์ทเตอร์ออกหมดแล้ว เหลือค้างอยู่แค่ขั้วสตาร์ทเตอร์เท่านั้น
ใช้คีมจับน็อตตัวเมีย ที่ขั้วสตาร์ทเตอร์เอาไว้ รั้งลงมาเบาๆ แล้วหมุนทวนเข็มนาฬิกา
ปลดขั้วสตาร์ทเตอร์ออกมาแล้ว ส่วนน็อตยึด ถ้าเอาออกมาไม่ได้ ไม่เป็นไร คาไว้แบบนั้นได้
ต่อมาปลดบัลลาสต์แกนเหล็กของเดิมออกได้เลย ใช้คีมจับน็อตตัวเมียไว้ รั้งลงมานิดนึง แล้วหมุนทวนเข็มเช่นกัน
ช่างผู้ติดตั้งโคมไฟ ไม่ได้ยึดน็อตตรงส่วนปลายของบัลลาสต์ จึงไม่สามารถสไลด์ออกมาได้ ต้องถอดออกมาให้หมด
เมื่อปลดทุกสิ่ง ก็โล่งอย่างที่เห็นนี่แหละ ไม่เหลืออะไรเลย เหลือแต่น็อตห้อยอยู่ไม่กี่ตัว
เดี๋ยวเราต่อขั้วหลอดไฟ เข้ากับบัลลาสต์ก่อน แต่ขั้วสตาร์ทเตอร์ยังไม่ได้ถอดออกเลย
ขั้วสตาร์ทเตอร์เนี่ย เดี๋ยวนี้มีหลายแบบมากๆ บางแบบก็เป็นสกรูยึดสายไฟ บางแบบก็มาเป็นแบบเสียบสายไฟแบบนี้ แต่ยังมีแบบที่ขั้วต่อหลอดไฟ ติดอยู่กับตัวสตาร์ทเตอร์เลยก็มี ดังนั้น บ้านใครบ้านมัน ขั้วสตาร์ทเตอร์ของคุณอาจจะไม่เหมือนกับผมนะครับ
ข้างๆ สายไฟ ที่เสียบคาไว้ มีรูอยู่หนึ่งรู จะรออะไรล่ะ จิ้มเลย แค่เสียบลงไป สายไฟก็คลายออกมา ใช้นิ้วดึงเบาๆ ก็ออกแล้วแบบนี้ไง
มีสายไฟ 4 เส้น แต่แบ่งเป็น 2 คู่นะ มีแค่ 2 สี เท่านั้น ในภาพนี้ก็เป็น คู่ซ้าย และคู่ขวา
บนตัวบัลลาสต์บอกวิธีต่อเอาไว้แล้ว ไม่ต้องกลัวผิด คู่แรก ต่อกับหมายเลย 1 และ 2 ส่วนคู่ที่สอง ต่อกับหมายเลข 3 และ 4
เรียงปลายสายเอาไว้เลย เป็นคู่ๆ สีไหนขึ้นก่อนก็ได้นะ ไม่ผิดกติกา
เสียบสายไฟ ขั้วหลอดคู่แรกลงไปแล้ว
ขั้วหลอดไฟ คู่ที่สอง เสียเข้าไปตามหมายเลขที่เหลือ ไม่ต้องกลัวผิด แต่ถ้าเสียบผิดช่อง จะดึงสายไฟออกตรงๆ ไม่ได้ ต้องใช้ไขควงทดสอบไฟ กดลงไปที่ปุ่มเล็กๆ มีรอยผ่า เหนือสายไฟในแต่ละช่อง จึงจะดึงสายไฟออกได้
ต่อขั้วหลอดไฟ เข้ากับบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์ตัวใหม่เรียบร้อย มีเพียงเท่านี้เอง ไม่ยากเลย
ถึงเวลาติดตั้งแล้ว ลองดูสายไฟ ฉนวนบางส่วนเริ่มเปลี่ยนสีไป เนื่องจากความร้อนที่มาจากตัวบัลลาสต์ ทดสอบหัก งอดูแล้ว ฉนวนยังไม่ปริไม่แตก ยังงอได้ตามปกติ ใช้งานต่อได้
เตรียมน็อตยึดบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์ไว้ก่อนเลย สังเกตที่ตัวน็อตเวลาที่ห้อยอยู่เฉยๆ จะมีระยะห่างระหว่างหัวน็อต กับฝ้าเพดาน
ใช้นิ้วหัวแม่มือ กดลงไปข้างๆตัวน็อต เพื่อให้หัวน็อตแนบติดกับฝ้าเพดาน
หมุนน็อตตัวเมียเข้าไปให้เกือบสุด กะความห่างประมาณความความหนาของรูยึด ของบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์ตัวใหม่
ระยะห่างระหว่างพื้นโคม กับน็อตตัวเมีย ต้องไม่มากไปกว่าความหนาของรูยึดตัวบัลลาสต์
ลองเสียบตัวบัลลาสต์เข้าไป ถ้าแน่นก็ใช้ได้ ถ้าไม่แน่น ก็ปรับน็อตตัวเมียไปอีกสัก 1/4 รอบ ค่อยๆ ลอง เวลามีเยอะ ภรรยายังไม่กลับจากห้าง ท้องฟ้ายังไม่มืด
แน่นดีแล้ว ไม่ตกลงมาแน่ เพราะบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์ ไม่มีอาการสั่น ไม่มีอาการคราง ไม่มีเสียงดังใดๆ และไม่ร้อนมากเท่าของเดิม แต่จะยึดน็อตไว้ตัวเดียวก็ยังไงอยู่
หันมาอีกด้านนึง ปรากฏว่างานเข้าครับ น็อตที่เหลือ ไม่มีพื้นที่ ขยับเข้าออกได้เลย หมดหนทางเสียแล้ว สำหรับโคมที่ผ่านๆ มาในบ้านนี้ ตัวน็อตจะขยับเข้าออกได้เล็กน้อยเนื่องจากรูที่ตัวโคมไฟ มีระยะให้ขยับมากพอ ทั้งหัวและท้าย ทำให้ติดตั้งได้ไม่ยากเย็น แต่สำหรับโคมไฟชุดนี้ โชคยังดีอยู่บ้าง รูยึดข้างๆ ยังมี แถมเป็นรูที่สวมหัวน็อตได้เสียด้วย ถ้าใครติดขัดแบบผม และแก้ปัญหาไม่ได้ คงต้องถอดโคมไฟลงมาแล้วล่ะครับ
น็อตยึดตัวขั้วสตาร์ทเตอร์ แกะออกมาได้ นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์เลย ปรับระยะห่างของตัวน็อตให้ดี ให้พอดี แล้วเสียบเข้าไปฐานโคมไฟได้เลย ก็แน่นหนาอย่างที่เห็น บัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์เบา และไม่คราง ไม่สั่น ไม่หลุดออกมาแน่นอน
อีกด้านนึงของตัวบัลลาสต์ ตัวโคมไฟ เจาะรูเป็นแบบขยับหัวน็อตเลื่อนเข้าออกได้ งานนี้เลยรอดตัวหวุดหวิด ไม่ต้องถอดโคมไฟ
เมื่อต่อบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์เข้าไปแล้ว หน้าตาในโคมไฟก็เป็นแบบที่เห็น
สายไฟสองเส้นนี้ เป็นไฟเข้า สีดำเป็น Line และสีเทา เป็น Neutral กรณีของบ้านผมนะครับ บ้านใครใช้สายสีอะไร สีไหนเป็น Line ต้องตรวจสอบก่อน อย่ายึดตามผมนะครับ เดี๋ยวขอไปตัด แล้วปอกสายใหม่ก่อน
ดูให้แน่ใจอีกครั้ง ก่อนจะเสียบสายไฟเข้าไปนะครับ ช่องเสียบหมายเลขอะไรสำหรับ สาย Line และ Neutral
แต่ถ้าเสียบผิดอย่างในภาพ ให้ใช้ไขควงทดสอบไฟ กดลงไปตรงปุ่มที่มีรอยผ่าแบบนี้ ก่อนจะใช้มือดึงสายไฟออกมา
เมื่อประกอบส่วนต่างๆ เข้าไปภายในตัวโคมไฟครบแล้ว
งานนี้ยังไม่จบ เมื่อพบว่าอุปกรณ์ชำรุด สังเกตเห็นไหมครับ
สายไฟ ของชุดขั้วหลอดไฟ แตกเสียหาย คงเป็นเพราะผู้ผลิตขั้วหลอดไฟราย เลือกใช้วัสดุราคาถูกมาประกอบขาย ในราคาแพง อายุการใช้งานจึงสั้นเช่นนี้ ทั้งที่เพิ่งจะเปลี่ยนขั้วหลอดไฟไปไม่ถึง 2 ปี
แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปก่อน ด้วยเทปพันสายไฟ ความจริงแล้ว จะไม่เปลี่ยนก็ได้ แต่จากคุณภาพของสายไฟแบบนี้ สมควรเปลี่ยนใหม่เป็นอย่างยิ่ง จะวิ่งออกไปซื้อใหม่ตอนนี้ก็เปลืองน้ำมันไปหน่อย จดเอาไว้ก่อน ออกไปนอกบ้านครั้งต่อไป ค่อยซื้อมาเปลี่ยน เปลี่ยนไม่ยากแล้วด้วย แค่จิ้มๆ ดึงๆ เท่านั้นเอง
เมื่อต่ออุปกรณ์ต่างๆ ในวงจรหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์เรียบร้อยแล้ว ก็พร้อมสำหรับการทดสอบ หลอดไฟติดเรียบร้อยดีแล้ว
เมื่อใช้งานได้เรียบร้อยดี ประกอบฝาครอบแก้วเข้าไปที่โคม ก็จบงานเรียบร้อยดี
จบงานเรียบร้อยแล้ว แต่คิดว่าน่าจะมีคนสงสัยอยู่จำนวนไม่น้อย ว่าทำไมไม่ถอดโคมไฟลงมาเลย แล้วค่อยใส่กลับเข้าไปใหม่ ขอตอบว่า ก่อนหน้านี้ ผมก็ใช้วิธีนั้นนั่นแหละครับ ตอนถอดน่ะง่ายมาก แต่ตอนใส่กลับเข้าไป มันไม่ค่อยจะง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะเพดานที่เป็นฝ้าฉาบเรียบ ผมเคยเจอเคสที่ตำแหน่งรูสกรู ไม่ตรงตำแหน่งของรางยึดฝ้าเพดาน และเดาว่าช่างได้ต่อรางลอยยื่นออกมาเพื่อรองรับรูสกรูนั้นๆ เอาไว้ แต่จะเป็นแบบนั้นหรือไม่ ก็ไม่ทราบ เพราะฝ้าฉาบเรียบ ถ้าไม่เจาะช่องก็มองไม่เห็น ตอนไขสกรูเข้าไป ก็หาควานหารูเก่าบนรางเหล็ก ที่อยู่ใต้ฝ้าไม่เจอ มันเหมือนกับรางหนีไปจากตำแหน่งเดิม จนต้องเจาะรูโคมไฟเพิ่มขึ้นมาใหม่ แล้วยึดกับฝ้าในตำแหน่งใหม่ที่ไม่ค่อยเหมาะสมนัก เอาเป็นว่า เคสแบบยุ่งยากแบบนี้ ไม่ได้เจอกันบ่อยๆ แต่ถ้าเจอขึ้นมาก็ไม่อยากเสียเวลากับมัน สรุปง่ายๆ คือมันเสียเวลามากไปถ้าเจอเหตุการณ์แบบนั้น ในขณะที่เปลี่ยนด้วยวิธีที่ไม่ต้องถอดโคมไฟแบบนี้ มันง่ายกว่าเยอะ และลองทำมาแล้วหลายโคมแล้วด้วยครับ ดังนั้นถ้าไม่ต้องการเปลี่ยนโคมไฟใหม่ ก็ไม่เห็นความสำคัญของการต้องถอดโคมไฟลงมาเลยนะครับ
งานซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าติดตั้งบล็อคไฟ ฝังกำแพง ไม่ใช่เรื่องยาก
ภาพการติดตั้งบล็อคปลั๊กไฟ หรือเต้ารับแบบฝังกำแพงเหล่านี้ ที่นำเสนอทั้งหมดในบทความนี้ เกิดขึ้นมาจากมีเวลาในช่วงนี้ ก็เลยหยิบ Hard disk เก่าๆ ที่เก็บ backup ...
ซ่อมสวิทช์แรงดันปั๊มน้ำที่เสีย ซื้อเปลี่ยนก็ได้ แต่ซ่อมเองท้าทายกว่า
เรื่องราวงานช่างวันนี้ เป็นงานซ่อมที่นำมาบอกเล่าให้ฟัง มากกว่าจะเป็นการแนะนำ และบอกเล่าขั้นตอนในการทำเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งงานนี้ก็ไม่ใช่งานซ่อมในปัจจุบัน แต่มันเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีมาแล้ว หลังจากไปค้นหาภาพเก่าๆ ในคลังภาพ ...
วิธีติดตั้งแอร์เคลื่อนที่ ง่ายเหมือนประกอบพัดลม
ดูเหมือนว่า ฤดูร้อน ปีนี้ อากาศจะร้อนมากจนฉุดไม่อยู่ หลังจากเผยแพร่บทความรีวิว แอร์เคลื่อนที่ไป ก็มีคำถามเรื่องการติดตั้งแอร์เคลื่อนที่ มาเลย บางคนคิดว่า แค่ซื้อมา ...
เครื่องปั่นน้ำผลไม้ ใช้มานาน ล้างเน้นๆสักทีก็ดี
งานช่างวันนี้วกมาพูดเรื่องเบาๆ ง่ายๆ บ้าง ขอพูดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกับครัว กับคุณแม่บ้านสักนิด นั่นคือ เครื่องปั่น ที่มีโถปั่นน้ำผลไม้ พร้อมกับโถปั่นแห้ง เชื่อแน่ๆ ...
สายยางรดน้ำหรือล้างรถ ต่อกับก๊อกน้ำหรือหัวฉีด สะดวกด้วยข้อต่อสวมเร็ว
เดี๋ยวนี้สายยางรดน้ำต้นไม้ มีให้เลือกใช้งานกันหลายชนิด หลายขนาด อีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อสายยางเข้ากับก๊อกน้ำ หรืออุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ก็มีให้เลือกใช้งานมากมาย โดยเฉพาะหัวฉีดน้ำ ไม่ว่าจะเป็นหัวฉีดน้ำที่มีหัวย่อยๆ อีกหลายแบบอยู่ในตัวเดียวกัน จะฉีดน้ำให้เป็นเส้น ...
สวิทช์ลูกลอยไฟฟ้า เสีย ไม่ทำงาน ทำงานผิดปกติ
ที่บ้านสวน ใช้น้ำบาดาล โดยใช้ปั๊มน้ำบาดาลสูบขึ้นมาเก็บไว้ในโอ่ง แล้วค่อยดูดผ่านปั๊มน้ำอัตโนมัติไปใช้งานภายในบ้านอีกทีนึง ซึ่งการควบคุมระดับน้ำในโอ่ง อาศัยสวิทช์ลูกลอย หรือลูกลอยไฟฟ้า ในการควบคุม ซึ่งลูกลอยไฟฟ้าแบบนี้ เป็นชนิดมีตุ้มน้ำหนักสองตุ้ม ...
ซ่อมก๊อกน้ำบอลวาล์ว ก๊อกห้องน้ำ น้ำรั่ว น้ำซึม หยดไม่หยุด
ก๊อกน้ำชนิดบอลวาล์ว (ก๊อกสนามก็เป็นหนึ่งในก๊อกบอลวาล์ว) เป็นก๊อกน้ำที่ใช้งานง่าย เวลาจะเปิดน้ำก็บิดหมุนเพียง 1/4 รอบ หรือ 90 องศา น้ำก็ไหลผ่านได้เต็มที่แล้ว ...
ซ่อม แก้ไขปัญหา น้ำรั่วจาก “ถังพักน้ำชักโครก” (ถังพักน้ำสุขภัณฑ์) ลงสู่โถสุขภัณฑ์
ตามที่ได้เคยพูดคุย และเล่าให้ฟังในบทความก่อนหน้านี้แล้วว่า ปัญหาเกี่ยวกับระบบประปา มักจะสร้างความปวดหัวให้กับเจ้าของบ้านเป็นอย่างมาก เพราะถ้ามีปัญหาขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จะตามมาด้วยความเฉอะแฉะ น้ำนอง และสูญเปล่า และสุดท้ายคือต้องจ่ายค่าน้ำประปาในส่วนที่เราไม่ได้ใช้ ชักโครก หรือโถสุขภัณฑ์ก็เป็นสุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำอีกชิ้นหนึ่ง ...
ปลั๊กไฟ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น อย่าใช้งานอย่างประมาท
ระหว่างที่ยืนรอคิวกดเงินอยู่หน้าตู้เอทีเอ็ม ซึ่งในบริเวณนี้ เป็นอาคารก่อสร้างแบบห้องแถว หลายคูหา ฝั่งขวามือเป็นร้านค้าสะดวกซื้อ ฝั่งขวามือ เป็นร้านขายยา และมีร้านค้าเล็กๆ แบบแผงลอย ขายของอยู่ข้างหน้าห้องแถวเหล่านี้อยู่ ...
หัวแปลงปลั๊กไฟ ปลั๊กแปลงขา ดีๆ ก็มีขาย ต้องเลือกกันหน่อย ภาค3
บทความเรื่องหัวแปลงปลั๊กไฟ ก็ผ่านไปแล้วถึงสองตอน แม้ว่าเราจะไม่ได้เดินทางออกไปไหน ไม่ได้ไปต่างประเทศ แต่หลายๆ คนในเมืองไทยนี้ ก็ยังต้องใช้หัวแปลงปลั๊กไฟ ต้องซื้อมาติดบ้านไว้ใช้งานกัน บางชิ้นก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนปลั๊กสามตา เป็นการขยายช่องเสียบปลั๊ก ...
รีวิว ตู้เย็น Sharp 2 ประตู รุ่น SJ-X380T-SL
ได้ตู้เย็นใบใหม่มา หลังจากตู้เย็นใบเดิม ยี่ห้อ M.. เสียไปแบบไม่น่าจะเสีย สองประตูเหมือนกัน น้ำยารั่วหมดตู้เลย ลองรื้อ ลองซ่อมแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ ...
รีวิว พัดลมตั้งโต๊ะ มิตซูบิชิ
ถอดแกะมารีวิว พัดลมตั้งโต๊ะ ยี่ห้อ มิตซูบิชิ (Mitsubishi) พัดลมยี่ห้อนี้ผมเคยรีวิวมาแล้วครั้งหนึ่ง เป็นพัดลมแบบกึ่งตั้งโต๊ะ ซึ่งพัดลมแนวกึ่งๆนี้เป็นที่นียมมากพอสมควร แต่พัดลมแบบตั้งโต๊ะก็ยังมีความต้องการอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน และพัดลมในวันนี้ ...
วิธีใช้ไม้วัดระยะลึก หรือแท่งวัดความลึกของสว่านไฟฟ้า
วันนี้ขอพูดถึงอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่มักจะแถมมาพร้อมๆ กับสว่านไฟฟ้าเสมอๆ แต่ว่าเรามักจะไม่ค่อยได้นำมาใช้งานกัน นั่นก็คือ ไม้วัดระยะความลึก หรือก้านวัดระยะ หรือแท่งวัดระยะ จะเรียกยังไงก็ตาม บางคนก็ไม่รู้ว่าจะนำมาใช้งานยังไง หรือบางคนก็เลือกที่จะไม่ใช้ ...
เลือกใช้ดอกสว่านให้ถูกกับงาน
ปัญหาเรื่องการเลือกซื้อสว่านไฟฟ้า และปัญหาการเลือกซื้อ หรือเลือกใช้ดอกสว่าน มักจะเป็นปัญหาอันดับต้นๆ และเป็นคำถามที่มักจะได้รับจาก ช่างประจำบ้าน ช่างจำเป็นมือใหม่ อยู่เสมอๆ วันนี้เลยขอมานั่งพูดคุยกันถึงเรื่องของดอกสว่านสักหน่อยดีกว่า เพื่อความเข้าใจ ...