ปลั๊กไฟ หรือเต้ารับ ไม่ควรติดตั้ง ไว้ในจุดที่โดนฝน

ปลั๊กไฟ หรือเต้ารับ เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีหน้าสัมผัสทางไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งไม่เหมือนกับสายไฟหุ้มฉนวน PVC ที่ใช้เดินไฟกลางแจ้งกันทั่วไปแบบนั้น แต่การติดตั้งปลั๊กไฟ จำเป็นที่จะต้องอยู่ในพื้นที่ ที่ไม่โดนฝนสาด หรือเสี่ยงที่จะโดนฝนสาด โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน หรือกันฝนให้กับตัวปลั๊กไฟใดๆเลย

ปลั๊กไฟ ด้านซ้ายมือ โดนฝนสาดใส่ประจำ กับขวามือ ไม่มีร่องรอยผิดปกติ
ปลั๊กไฟ ด้านซ้ายมือ โดนฝนสาดใส่ประจำ กับขวามือ ไม่มีร่องรอยผิดปกติ

แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ธรรมดามากๆ ที่น่าจะต้องรู้กันอยู่แล้วว่า ไฟฟ้า กับน้ำ ไม่ใช่ของคู่กัน แต่ผมก็ยังพบเห็นอยู่บ่อยๆ กับการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ และสวิทช์ไฟ ในจุดที่โดนฝนสาดใส่ถึง หรือโดนแดดอยู่เป็นประจำ ซึ่งพบเห็นอยู่เรื่อยๆ ครับ

ในภาพแรก มีปลั๊กไฟ หรือเต้ารับอยู่สองตัว ด้านซ้ายมือ จะเป็นปลั๊กไฟที่โดนฝนสาดใส่อยู่เป็นประจำ เวลาที่ฝนตก จะเห็นได้ว่า มีคราบสนิมเกาะที่ตัวสกรูชัดเจน แต่ปลั๊กไฟ ตัวขวามือนั้น ไม่มีร่องรอยใดๆ เลย แม้จะดูเขรอๆ เลอะเทอะ เหมือนๆ กันทั้งสองตัว นั่นก็เพราะว่า ตัวขวามือนั้น เป็นปลั๊กไฟที่ติดตั้งอยู่ภายในอาคารตามปกติ ไม่มีวันที่ฝนจะสาดมาถึงแน่ๆ

สภาพของปลั๊กไฟ หรือเต้ารับ ที่ข้างในมีสภาพเป็นแบบนี้ ยังสามารถใช้งานได้หรือไม่ คำตอบที่พอจะบอกได้คือ แล้วแต่เราครับ ผมเคยพูดถึง และยกตัวอย่างไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ เรื่องของปลั๊กไฟที่ถูกน้ำท่วม ถ้าอ่านบทความนั้น ก็น่าจะตอบคำถามนี้ได้ ว่าจะเปลี่ยนตัวใหม่ดีหรือไม่

แกะออกมาดูข้างในกันสักหน่อย สนิมเขรอะเลย สภาพอย่างที่เห็น
แกะออกมาดูข้างในกันสักหน่อย สนิมเขรอะเลย สภาพอย่างที่เห็น

ปลั๊กไฟ หรือเต้ารับ แม้แต่สวิทช์ไฟ ถ้าโดนฝนสาดมากๆ จนเปียก น้ำอาจจะไหลเป็นทางลงมา ตั้งแต่หน้าสัมผัส มายังจุดต่อไฟ ไหลลงมายังกำแพง และถึงพื้นก็ได้ ซึ่งก็ไม่แน่เสมอไป ว่าจะเกิด หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ กระแสไฟก็จะวิ่งตามน้ำลงมาถึงพื้น เราเรียกมันว่าไฟรั่ว

แต่ที่แน่ๆ การติดตั้งเต้ารับในจุดที่ฝนสาดใส่ถึง น่าจะเรียกได้ว่าความประมาท ถ้าเรางดใช้งานปลั๊กไฟ หรือสวิทช์ไฟในสภาพที่กำลังเปียกๆ อยู่ เพราะโดนฝนสาด ก็ควรที่จะปลอดภัย แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ตัวใครตัวมันล่ะนะ เพราะเราพลาดเอง ไปติดตั้งปลั๊กไฟ ในตำแหน่งที่ฝนสาดถึง

การติดตั้งปลั๊กไฟ หรือเต้ารับ เอาไว้กลางแจ้ง หรือในตำแหน่งที่ฝนสาดถึง โดยไม่มีอุปกรณ์ใดๆ ทำหน้าที่กันฝนเลย จะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อุปกรณ์ตัดไฟ ชนิดที่เรากันว่า เบรคเกอร์กันไฟดูดนั่นแหละครับ ตัดการจ่ายไฟได้เลยนะ แล้วก็จะทำให้เรางงๆ มึนๆว่า ฝนตกทีไร ไฟตัดทุกที โดยที่นึกสาเหตุไม่ออกว่าทำไม

ติดตั้งในตำแหน่งใต้ชายคาก็จริง แต่ชายคาอยู่สูง และสั้น ฝนสาดถึงแรงๆ เสมอๆ
ติดตั้งในตำแหน่งใต้ชายคาก็จริง แต่ชายคาอยู่สูง และสั้น ฝนสาดถึงแรงๆ เสมอๆ

บ้านบางหลัง มีพื้นที่กว้างรอบๆ บ้านมากพอสมควร บางทีเราก็ต้องการปลั๊กไฟ ในตำแหน่งที่อยู่รอบๆ บ้านบ้าง เพื่อใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน แต่ยังอยู่ภายในบริเวณบ้าน ครั้นจะให้ลาก หรือต่อปลั๊กพ่วงยาวๆ หรือทำสายไฟชั่วคราว ปลั๊กสนาม แล้วลากต่อจากภายในบ้านทุกๆ ครั้งที่ต้องการจะใช้ไฟ ก็ไม่ใช่เรื่องสนุกนัก

ติดตั้งปลั๊กไฟ หรือเต้ารับในตำแหน่งที่ฝนสาด แต่ซ่อนไว้ใต้กล่องกันน้ำ
ติดตั้งปลั๊กไฟ หรือเต้ารับในตำแหน่งที่ฝนสาด แต่ซ่อนไว้ใต้กล่องกันน้ำ

เมื่อเราเลี่ยงไม่ได้ อยากจะมีปลั๊กไว้ภายนอกบ้านเพื่อใช้งาน แถมยังอยู่ในตำแหน่งที่ฝนสาดใส่ได้เต็มๆ ก็ควรจะติดตั้งเอาไว้ภายใต้กล่องกันน้ำ อย่างที่เห็นในภาพ ซึ่งเผยอฝากล่องขึ้นเล็กน้อยให้เห็นว่า เวลาที่จะใช้งาน เราจะเปิดฝากล่องขึ้น และเมื่อใช้งานเสร็จ เราก็จะปิดมันกลับลงไปจนสุด เพื่อไม่ให้น้ำสาดเข้าไปถึงตัวปลั๊กไฟ หรือเต้ารับของเราได้ ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน และปลอดภัยต่อตัวปลั๊กไฟเอง ไม่ขึ้นสนิมที่จุดต่างๆ ภายในปลั๊กเรา ก็ใช้งานกันได้ยาวๆ แล้วล่ะครับ

Leave a Comment

eleven + twelve =

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.